ไม่พบผลการค้นหา
จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา แนะสังเกตอาการไม่ปกติในการดำรงชีวิตประจำวัน ให้พบแพทย์ อย่าปล่อยให้เป็นหนัก อย่ากังวลว่าจะถูกหาว่าบ้า เพราะปัจจุบันพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ

นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่า โรคทางจิตเวชพบได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุแต่ในช่วงอายุมีโรคแตกต่างกันไป บางช่วงอายุจะเจอโรคบางอย่างมากกว่าอีกช่วงอายุ โรคยอดฮิต 5 อันดับ 1.โรคจิตเภท 2.โรคซึมเศร้า 3.โรคไบโพลาร์ 4.โรควิตกกังวล 5.โรคความผิดปกติอื่นที่เกิดจากสมองถูกทำลาย

"โรคจิตเวช เป็นโรคเจอได้ทุกอายุอย่าคิดว่าแก่แล้วจะปลงได้ ไม่จริง คนเรามีอายุมากขึ้นจะทุกข์ในวัยของเค้า วัยเด็กจะมีทุกข์ในวัยเด็ก หากใครมีความทุกข์อย่ารอช้าให้มาพบแพทย์" นพ.อภิชาติ กล่าว

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า การมาพบจิตแพทย์ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะในสภาพสังคมปัจจุบันการมาพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นบางคนพาผู้ปกครองมาด้วย ใครที่ยังกลัวอยู่ ถือว่าเชยมาก เพราะทั่วโลกปัจจุบันถือเป็นโรคที่พบได้บ่อย การที่มารับบริการไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เมื่อมารักษาหายแล้วกลับไป เชื่อว่าชีวิตจะกลับมาเป็นปกติสุข หากประเมินตัวเองแล้วพบว่ามีอาการบางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งความคิด อารมณ์ พฤติกรรม

แนะนำให้โทรไปปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 จะได้รับคำแนะนำเบื้องต้น แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น และมีสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบกับการดำเนินชีวิต เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือทำงาน ความสามารถแย่ลง ตัดสินใจอะไรผิดพลาด ไม่อยากพบใคร อยากแยกตัว หรือรู้สึกเบื่อไปหมด มาที่สุดคือ อยากตาย ดังนั้นอย่ารอให้ถึงขั้นที่ป่วยมาก ให้รีบมาพบแพทย์ เพื่อที่จะได้ตรวจว่าป่วยจริง หรือ มาจากสาเหตุอื่น

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า คนรอบข้างผู้ป่วย ถือว่าสำคัญมาก เพราะจะเป็นคนใกล้ชิดที่สังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ หากไม่แน่ใจว่าคนที่เรารักหรือสนิทป่วยเป็นโรคทางจิตเวทหรือไม่ แนะนำให้ดูข้อมูลลักษณะอาการป่วยจากเว็บไซด์ของโรงพยาบาลศรีธัญญา หรือโรงพยาบาลอื่นๆ จะทำให้เราเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง แต่หากไม่มั่นใจให้มาหาหมอพร้อมกับผู้ป่วย อย่าปล่อยให้ไปหาหมอคนเดียว จะได้รับรู้ปัญหาที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ เพื่อช่วยดูแลได้ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล

"สังคมทั่วโลกมีแนวโน้มมีความเครียดเพิ่มมากขึ้น เกิดจากการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสังคม ทำให้มีความหลากหลายและกดดันมากกว่าสมัยก่อน รูปแบบการใช้ชีวิตจึงแตกต่างกันไป บางคนปรับตัวตามโลกที่เปิดกว้างไม่ทัน ทำให้ใช้สังคมในทางที่ผิด บางทีออกมาเป็นข่าวหรือรูปแบบการใช้ชีวิต ที่ดูเหมือนเคารพสิทธิตัวเอง แต่ไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น ทำให้สังคมเกิดความปั่นป่วน สุดท้ายแล้วถ้าเราอยู่ด้วยความอาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเครียดความเจ็บป่วยจะเบาลง อย่ารอให้คนอื่นมาแก้แทนเรา ต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อนทำให้สังคมดีขึ้น แล้วสังคมจะหายป่วย" นพ.อภิชาติ กล่าว


 ข่าวที่เกี่ยวข้อง :