ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง ระวังป่วยด้วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เผยปีนี้ (2561) พบผู้ป่วยแล้ว 355 ราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา) ในปี 2561 นี้ พบว่ามีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 355 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เป็นสัญชาติไทยทั้งหมด 354 ราย สัญชาติพม่า 1 ราย 

สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.สตูล นราธิวาส สงขลา กระบี่ และตรัง ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง จากข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงเกินกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

กรมควบคุมโรค จึงได้พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ ว่าในช่วงนี้คาดจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนและมีฝนตกต่อเนื่องทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา พบได้ทุกกลุ่มอายุ มีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก แต่มักมีอาการปวดข้อเพิ่มเติม โดยไวรัสนี้ติดต่อจากคนสู่คนได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ 

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ควรร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอในช่วงนี้ โดยเน้นใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำทุกชนิดต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรคในคราวเดียวกัน ทั้งโรคไข้เลือดออก ,โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ,ไข้ปวดข้อยุงลาย 

สำหรับผู้ที่มีประวัติยุงลายกัด หรือในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในภาคใต้ที่มีผู้ป่วยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ หรือบุคคลทั่วไป หากพบว่ามีอาการป่วยด้วยไข้สูงเฉียบพลัน ผื่นขึ้นตามร่างกาย ตาแดง ปวดข้อเล็กๆ หลายตำแหน่ง ให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็ว 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :