ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปมเจ้าหน้าที่กระทรวงทุจริตเงินคนพิการหรือไม่ กำหนดรายงานผลภายใน 15 วัน ลั่นหากพบมีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องลงโทษทางวินัยร้ายแรง

เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.61) นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ เข้าพบ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เพื่อให้ข้อเท็จจริง กรณีคนพิการถูกละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 33 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการ แต่ตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการจริง และเกิดการทุจริตในการฝึกอบรมให้คนพิการ ตามมาตรา 35 ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับการจ้างงานคนพิการ เกี่ยวข้องกับ 2 หน่วยงาน คือ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในส่วนของ 'กรมการจัดหางาน' มีหน้าที่ดูแลเรื่องของจัดหางานให้กับคนพิการ ตามมาตรา 33 ซึ่งคนพิการในระบบที่มีสิทธิทำงาน จำนวน 64,000 คน ได้ทำงานแล้ว 36,000 คน และมีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหา งาน 1,979 คน ได้บรรจุงานไปแล้ว 1,565 คน ขณะที่ 'กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ' มีหน้าที่นำเงินสมทบของสถานประกอบการ ที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงาน ไปจัดอบรมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนพิการตามความเหมาะสม 

นายปรีดา กล่าวว่า ความจริงมีการทุจริตเรื่องนี้ชัดเจน ทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ ขณะนี้ได้รวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานทั้งหมดไว้แล้ว จะทยอยเปิดเผยไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญหาจะถูกแก้ไข แต่หากเรื่องลุกลามบานปลาย อาจจะไปถึงระดับนานาชาติ เพราะคนพิการมีกฎหมายคุ้มครองตามหลักสากล และเชื่อว่าถ้าแก้ปัญหาจริงจังใช้เวลาไม่น่าเกิน 1 เดือนในการตรวจสอบ เนื่องจากรายชื่อคนพิการทั้งหมดเข้าไปอยู่ในระบบ สามารถตรวจสอบได้ ส่วนกรณีที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแถลงข่าว ว่าไม่มีการทุจริตนั้น นายปรีดา บอกว่า พม. แถลงข่าวเร็วเกินไป ควรที่จะตรวจสอบก่อน และจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่เชื่อว่า จะไม่มีการทุจริต

ด้าน รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ได้ตั้งคณะกรรมการข้อเท็จจริงแล้ว มอบหมายให้ นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานฯ มีรองอธิบดีกรมการจัดหางาน และรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นกรรมการการกำหนดรายงานผลภายใน 15 วัน (นับตั้งแต่20ก.ย.61) โดยจะพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากนายปรีดา เพื่อหาข้อสรุปว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่, เกิดการทุจริตในขั้นตอนใด และมีหน่วยงานนอกกระทรวงฯ เกี่ยวข้องหรือไม่ 

ทั้งนี้ ยืนยันว่า หากพบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะต้องลงโทษทางวินัยร้ายแรง เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด(18ก.ย.) ว่า "ใครทำผิดกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องเงินทองให้ออกจากตำแหน่งโดยทันที"