ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวองค์กรมหาชนไทย เตรียมวิจัยอาหาร ด้วยการส่งทุเรียนขึ้นไปในอวกาศ เดือน ก.ค.นี้ แต่สื่อบางสำนักระบุว่า ทุเรียนกลิ่นแรงคล้ายขยะ-ถุงเท้าไม่ได้ซัก กลิ่นแรงและอบอวลถึงขนาดมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเคยสั่งอพยพเพราะคิดว่าก๊าซรั่ว

นิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ รวมถึงเว็บไซต์บีบีซีของอังกฤษ และแชนแนลนิวส์เอเชีย สื่อสิงคโปร์ พร้อมใจกันรายงานข่าวนายอัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการสำรวจอวกาศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ที่กำลังจะส่งทุเรียนขึ้นไปในอวกาศ ภายในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้

ไทม์รายงานเพิ่มเติมว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นแรง แม้จะได้รับความนิยมแพร่หลายในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย แต่โรงแรมและระบบขนส่งสาธารณะส่วนใหญ่มีข้อห้ามนำทุเรียนเข้าไปในอาคารหรือตัวรถ และสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับ กลิ่นทุเรียน อาจรู้สึกว่าทุเรียนคล้ายกลิ่นขยะสดหรือถุงเท้าที่ยังไม่ได้ซัก 

อีกทั้งเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในออสเตรเลียเพิ่งมีคำสั่งอพยพนักศึกษาและบุคล��กรออกจากห้องสมุดเพราะคิดว่ามีก๊าซรั่ว สร้างความแตกตื่นให้กับเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อตรวจสอบจนทั่วจึงพบว่าแท้จริงแล้วเป็นกลิ่นของทุเรียนซึ่งถูกนำเข้าไปในบริเวณอาคาร 

อวกาศ-นักบินอวกาศ-unsplash-Photo by Niketh Vellanki on Unsplash

ส่วนแชนแนลนิวส์เอเชียและบีบีซี รายงานว่าทุเรียนที่จะถูกส่งไปในอวกาศจะถูกอบกรอบเสียก่อน และระยะเวลาที่ทุเรียนอยู่ในอวกาศจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 นาทีเท่านั้น ก่อนจะถูกส่งกลับมายังภาคพื้นดิน หากผลการทดสอบที่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะเดินหน้าศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อไป เพื่อขยายโอกาสของไทยในการเป็นผู้นำด้านอาหารในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม อาหารกลิ่นแรงเคยถูกส่งขึ้นไปในอวกาศมาก่อนแล้ว โดย 'โก ซัน' วิศวกรคอมพิวเตอร์ชาวเกาหลีใต้ซึ่งได้รับเลือกไปเข้าร่วมโครงการท่องอวกาศพร้อมยานโซยูซของรัสเซีย ได้นำผักดอง 'กิมจิ' ติดตัวขึ้นไปบนสถานีอวกาศเมื่อปี 2551

ขณะที่ 'วอยซ์ ออนไลน์' รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาหารที่จิสด้าจะดำเนินการวิจัยในอวกาศ คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งถือเป็นราชาแห่งผลไม้ ส่วนวิธีการอบกรอบ ไม่ได้ทำตามกระบวนการปกติ หลังจากส่งทุเรียนขึ้นไปบนอวกาศประมาณ 4-5 นาที จะถูกส่งกลับมา เพื่อดูสภาพความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาหารและบรรจุภัณฑ์ว่าคงเดิมหรือไม่ และจะดูไปถึงผลกระทบของแรงโน้มถ่วงของโลกในสภาวะไร้น้ำหนักต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่นำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีศักยภาพต่อการใช้งานในอนาคตที่เกี่ยวกับอาหารด้วย

Photo by Niketh Vellanki on Unsplash และ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: