สำนักข่าวรอยเตอร์สเปิดเผยว่าได้เห็นร่างแถลงการณ์ร่วมที่จะเผยแพร่หลังจบการประชุมอาเซียนซัมมิทในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.) โดยปรากฏว่าแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้อ้างอิงถึงประเด็นโรฮิงญา มีเพียง 1 ย่อหน้าที่กล่าวถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในเวียดนาม และผู้ได้รับผลการทบจากความรุนแรงจาก "กลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุดโต่ง" ในฟิลิปปินส์และรัฐยะไข่ของเมียนมา
รายงานดังกล่าวขัดกับการเปิดเผยจากแหล่งข่าววงในที่ไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งระบุว่าร่างแถลงการณ์ของประธานอาเซียน จะมีการกล่าวถึงประเด็นโรฮิงญา ทำให้มีการคาดหมายว่าผู้นำอาเซียนน่าจะมีจุดยืนชัดเจนขึ้นในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยโรฮิงญา และกดดันรัฐบาลเมียนมาให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่กลับกลายเป็นว่าร่างแถลงการณ์ นอกจากจะไม่กล่าวถึงบทบาทของกองทัพและรัฐบาลเมียนมาในความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ยังกล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลักษณะเหมารวมว่าเป็นผลพวงจากการก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมสุดโต่งอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในฐานะชาติมุสลิม ได้ผลักดันให้รัฐบาลเมียนมาแก้ปัญหาความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ ก็เตรียมจะนำแถลงการณ์ประธานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายุติการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในรัฐยะไข่ มาหารือกับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ ส่วนสหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีจริงจังในการกดดันเมียนมา ทั้งเรื่องการคว่ำบาตรทางการทหาร และชะลอการถอนรายชื่อทหารระดับสูงของเมียนมาออกจากบัญชีดำ
ขณะเดียวกัน นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ก็ถูกคาดหมายว่าจะมีแถลงการณ์เรื่องโรฮิงญาในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิทเช่นกัน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากทั้งนางซูจีและผู้นำนานาชาติ ว่าจะแสดงจุดยืนต่อปัญหาโรฮิงญาอย่างไร