ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันขอรัฐบาลทบทวนมติบอร์ดค่าจ้างกลาง แนะใช้ข้อเสนอบอร์ดค่าจ้างจังหวัด อ้างอัตราใหม่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด กระทบต้นทุนการผลิต หวั่นผู้ประกอบการภาคเกษตร-บริการ-เอสเอ็มอีอ่วมปรับตัวไม่ทัน

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 ได้พิจารณาประกาศการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 โดยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ อยู่ที่ 5-22 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 1.64-7.14 % เทียบปีก่อนหน้านั้น กกร. ได้สอบถามความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไปยังสมาชิกทั่วประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกต่างจังหวัดถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้

โดยมีข้อสังเกตว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 ได้ปรับเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัด เสนอถึง 92% ของจังหวัดทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มจังหวัด 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง อาทิ จังหวัดระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมที่ 308 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราเดิมของปี 2560 แต่มติบอร์ดค่าจ้างกลางให้ปรับอัตราค่าจ้าง ปี 2561 เป็น 330 บาทต่อวัน จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs โดยทั่วไป

พร้อมกันนี้ กกร. ได้รวบรวมความเห็นเพิ่มเติมจากสมาชิกในแต่ละจังหวัดและมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2560

2) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด อีกทั้ง ไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

3) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน

4) การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้ง ค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม และจะส่งผลกระทบต่อประชาชน

5) กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด

6) ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เป็นอย่างยิ่งจึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

7) ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมมีส่วนร่วม

"กกร. ขอเสนอให้รัฐบาลทบทวน มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ให้เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้ "นายกลินท์กล่าว

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 อีกครั้ง และควรอยู่บนพื้นฐานความเหมาะสม เช่น จังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดตราดที่มีขนาดและเศรษฐกิจแตกต่างกัน แต่มีการปรับค่าจ้างใหม่เป็น 320 บาทเท่ากันนั้น เห็นว่าไม่ควรปรับขึ้นในอัตราที่เท่ากัน และมีความเห็นตรงกันกับ กกร. ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก แต่ห่วงผู้ประกอบการ SMEs ภาคบริการ ภาคการเกษตร และผู้ประกอบการรายย่อยย่อมได้รับผลกระทบจริงๆ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยล่าสุดเพิ่งปรับเมื่อปี 2560 มองว่ารัฐบาลควรยกระดับผลิตภาพแรงงาน รวมถึงสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ช่วยยกระดับผลิตภาพแรงงาน และยังคงเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงอยากเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง.

ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 19 ได้พิจารณาประกาศการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แบ่งเป็น 7 ระดับ 7 กลุ่มจังหวัด ดังนี้

1) ปรับขึ้นเป็น 308 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา จ.ปัตตานี

2) ปรับขึ้นเป็น 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ จ.สิงห์บุรี จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.เชียงราย จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.อุทัยธานี จ.ศรีสะเกษ จ.ตาก จ.ชัยภูมิ จ.อำนาจเจริญ จ.แพร่ จ.ราชบุรี จ.ระนอง จ.มหาสารคาม จ.ชุมพร จ.หนองบัวลำภู จ.สตูล

3) ปรับขึ้นเป็น 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ดจ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.นครสวรรค์ จ.สระแก้ว จ.พัทลุง จ.อุตรดิตถ์ จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.เพชรบุรี จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.ชัยนาท จ.เลย จ.ยโสธร จ.พะเยา จ.บึงกาฬ จ.น่าน จ.กาญจนบุรี จ.อ่างทอง

4) ปรับขึ้นเป็น 318 บาท ได้แก่ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.จันทบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.นครนายก จ.กาฬสินธุ์ จ.ปราจีนบุรี

5) ปรับขึ้นเป็น 320 บาท ได้แก่ 14 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.สุพรรณบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.หนองคาย จ.ลพบุรี จ.ตราด จ.ขอนแก่น จ.สงขลา จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.พังงา

6) ปรับขึ้นเป็น 325 บาท ได้แก่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.นครปฐม จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา

7) ปรับขึ้นเป็น 330 บาท ได้แก่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี จ.ระยอง

อ่านเพิ่มเติม :

ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ชี้ค่าแรงขั้นต่ำไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน