ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน กสม. แนะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการชุมนุมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่ 'ประวิตร' เมินข้อเรียกร้องฮิวแมนไรท์วอช จี้ปล่อยตัวแกนนำคนอยากเลือกตั้ง

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึง 4 ปี คสช. กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อกรณีที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในปลายปี 2561 ว่า เป็นกรณีที่ผู้ชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว แต่ตำรวจกำหนดเงื่อนไขไว้โดยห้ามจัดการชุมนุมทางการเมือง และห้ามเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมาย ผู้ชุมนุมได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการชุมนุม อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ศาลปกครองกลางไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ประธาน กสม. ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่มีข้อยกเว้นอยู่ 4 ข้อ ที่รัฐจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ คือ เพื่อรักษา (1) ความมั่นคงของรัฐ (2) ความปลอดภัยสาธารณะ (3)ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และ (4) เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR ที่ไทยเป็นภาคี) ข้อ 21

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ไม่ใช้กับการชุมนุมภายในสถานศึกษา การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง หรือภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำไม่ได้ ในกรณีจำเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลได้ และที่น่าสังเกตคือกฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยอ้างว่า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ไทยเป็นภาคี 

“สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ออกมาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 อันเป็นเวลาหลังการรัฐประหารไม่นาน โดยห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา (จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) บัดนี้การรัฐประหารได้ล่วงเลยมา 4 ปี และสถานการณ์บ้านเมืองได้พัฒนาไปสู่โหมดการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว จึงควรที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ผ่อนปรนให้มีการการชุมนุมทางการเมืองได้ในระยะยาว ก็ควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องการห้ามชุมนุมทางการเมือง” นายวัส ระบุ

'ศรีสุวรรณ' บี้ กสม. สอบละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่กรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกลิดรอนสิทธิ จากการทวงคืนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. ทีผ่านมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่กลับถูกปิดกั้นขัดขวางและเข้าจับกุมแกนนำไปคุมขังไว้ที่ สน.ชนะสงคราม และ สน.ดินแดง ซึ่งการใช้อำนานของเจ้าหน้าที่รัฐขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสม. ที่จะต้องเร่งรีบออกมาส่งสัญญาณหรือแถลงการณ์อย่างใด ๆ และต้องดำเนินการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า

ประวิตร ย้ำ 'คนอยากเลือกตั้ง' ทำผิดต้องถูกดำเนินคดี 

ขณะที่ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฮิวแมนไรท์วอช และองค์การนิรโทษกรรมสากล แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยย้อนถามสื่อว่า กลุ่มแกนนำทำผิดกฎหมายหรือไม่ พร้อมชี้แจงว่าเขาทำผิดกฎหมาย ซึ่งเราได้อนุญาตให้ชุมนุมแล้วแต่ต้องอยู่กับที่ เมื่อเคลื่อนไหวก็ต้องดำเนินคดี

ทั้งนี้ จะได้รับการประกันตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับศาลและเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องของตน ขณะที่ นานาชาติจะเข้าใจหรือไม่นั้น พลเอกประวิตรตอบว่า “ก็นี่ชี้แจงแล้ว”