นายโกวิท เทพไพฑูรย์ ที่ปรึกษาเครือข่ายเกษตรกรของพระราชา จ.กำแพงเพชรและจ.นครสวรรค์ แกนนำกลุ่มเกษตรกรที่ปักหลักค้างคืนหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 ให้ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร และ ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลา ตามมติ ครม. วันที่ 3 ก.ย. 2556 เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร รวมถึงคำสั่ง คสช. 26/2560
ขณะที่ผ่านมา รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปบางส่วนแล้ว แต่ 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ มติ. ครม. 7 เม.ย. 2553 และ4 ปีรัฐบาล คสช. กลับทำให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งสิ้น 5.1 แสนราย มีเพียง 2 หมื่นรายที่ได้รับการแก้ปัญหา แต่ยังเหลือเกษตรกรอีกจำนวนมาก ยังไม่ได้รับการดูแลและเสียประโยชน์
ดังนั้น วันที่ 17-19 ก.ย. จึงต้องรวมตัวกันมาที่ ธ.ก.ส. เพื่อเรียกร้องให้ธนาคารดำเนินตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร โดยให้ลดเงินต้นเหลือครึ่งหนึ่ง และให้งดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 15 ปี เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาหลายอย่าง มีหนี้สินมาก ทั้งที่เกิดจากความผิดพลาดส่วนตัว และที่หนักสุดภาระหนี้จากนโยบายรัฐ ขณะที่ ปัญหาเศรษฐกิจทับถม หลายอย่างหมุนเร็ว ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่รายได้เกษตรกรกลับตามไม่ทัน
"ยอมรับว่าหนี้สินเกษตรกรส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของเกษตรกรเอง แต่หนี้ที่หนักและใหญ่มากล้วนเป็นหนี้จากนโยบายรัฐในทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ที่กีดกันรายได้เกษตรกร และไม่มุ่งพัฒนาชีวิตเกษตรการ ทำให้เขาเป็นเพียงคนต้นน้ำ แต่กลางน้ำถึงปลายน้ำเป็นของกลุ่มทุน ขณะที่ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจรุ่มเร้า รายได้วิ่งไม่ทันรายจ่ายและต้นทุนการผลิต เกษตรกรจึงมีหนี้สะสมและเพิ่มขึ้น" นายโกวิท กล่าว
ด้านนางสาวราตรี เอี่ยมสะอาด ประธานเครือข่ายเกษตรกรของพระราชา จ.กำแพงเพชร-จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรในกลุ่มเป็นหนี้และค้างชำระเงินต้น จ่ายได้แต่ดอกเบี้ย แล้วหนี้สินก็สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางสถาบันการเงินให้เกษตรกรทำสัญญาที่ 1 สัญญาที่ 2 มารวมกัน แล้วให้กู้สัญญาที่ 3 ไปโป๊ะจ่ายดอกเบี้ยของสัญญาที่ 1-2 ก็มี ซึ่งทำให้เกษตรกรไม่สามารถลดเงินต้นได้
"การมาชุมนุมของกลุ่มครั้งนี้ เราไม่ได้คิดว่าต้องมาแบมือขอให้รัฐช่วยใช้หนี้ให้ เพราะเราก็รู้ว่าประเทศก็เป็นหนี้ ใครๆ ก็เป็นหนี้ แต่เราต้องการให้รัฐช่วยผ่อนหนักเป็นเบา และเราต้องการเปลี่ยนวิธีคิดการทำมาหากินจริงๆ เรามีแผนแม่บทพัฒนาชีวิตเกษตรกร ทำคนทำนาไม่ใช่แต่ขายข้าวเปลือก แต่ต้องขายข้าวสาร เพื่อให้ได้ราคา ให้คนทำมันสำปะหลัง ไม่ได้แค่ขายมันเส้น แต่สามารถแปรรูปได้ และให้คนปลูกข้าวโพด ยกระดับจากขายเม็ดเป็นขายข้าวโพดอาหารสัตว์ได้ด้วย" น.ส. ราตรี กล่าว
นายบุญจันทร์ พุทธไธสง วัย 71 ปี จากจ.นครสวรรค์ หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมในเครือข่ายเกษตรกรพระราชา กล่าวว่า ตนกู้เงิน ธ.ก.ส. มาตั้งแต่ปี 2553 เริ่มต้นที่ 8 หมื่นบาท เพื่อนำไปเป็นเงินลงทุนเลี้ยงเป็ด แต่ประสบปัญหาขาดทุน และไม่สามารถส่งทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้มานานหลายปี ประกอบกับที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ธนาคารก็แนะนำให้กู้เพิ่มมานำเงินกู้ก้อนใหม่ไปโป๊ะหนี้ก้อนเก่า แต่ก็สะสมถึงปัจจุบันจนหนี้พอกพูนรวมทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยสูงถึง 4 แสนบาท และไม่รู้ว่า ในชีวิตจะใช้หมดหรือไม่
"เราก็กู้โดยให้คนในกลุ่มเกษตรกรค้ำประกันให้ ไม่ได้จำนองบ้าน จำนองที่ดิน แต่ก็เป็นหนี้สะสมเยอะมาก เจ้าหน้าที่แบงก์เขาก็ให้ผ่อนผันมาเรื่อย นี่ก็ไม่ได้ส่งทั้งต้นทั้งดอกมาหลายปีแล้ว" นายบุญจันทร์ กล่าว
ส.ก.ท.-สค.ปท. ยืนยันปักหลักชุมนุมถึงสิ้นปี หากแบงก์เจ้าหนี้เมินทำตามข้อเรียกร้อง
ด้านนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (ส.ก.ท.) อีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรที่ปักหลักค้างคืนใต้ทางด่วนหน้ากระทรวงการคลัง ฝั่งถนนพระราม 6 และเกือบทุกเช้าจะย้ายมาชุนนุมบริเวณทางเท้าหน้าธนาคารกสิกรไทย สำนักงานพหลโยธิน กล่าวว่า ทางกลุ่มรวมตัวชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา และตอนนี้เกือบจะครบ 1 เดือนแล้ว ด้วยข้อเรียกร้องต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกรโอนหนี้ทั้งก้อนของสมาชิกไปอยู่ในความดูแลของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการมาปักหลักชุมนุมหน้าธนาคารกสิกรไทย ก็เพื่อให้ผู้ใหญ่ของธนาคารในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยได้รับทราบถึงปัญหา
"สมาชิกของเราทั้งหมดเป็นหนี้ภาคเกษตร แม้ว่าในเอกสารบางคนได้ถูกระบุวัตถุประสงค์การกู้เป็นหนี้อย่างอื่น แต่ก็เพราะที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่แบงก์ให้กรอกวัตถุประสงค์การกู้เป็นอย่างอื่น เพื่อให้ได้เม็ดเงินมากขึ้น และบางคนก็ถูกแบงก์แนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็ไม่ไหว เงินต้นเงินดอก ทบกันเพิ่มขึ้น หลายคนถูกฟ้องล้มละลาย โดนยึดที่ทำกิน วันนี้เราจึงต้องมาเรียกร้องให้แบงก์แก้ปัญหา เพราะเรากลับไม่ได้ ตอนแรกจะปักหลังชุมนุมถึงแค่วันที่ 25 ก.ย. แต่ถ้าไม่ได้ตามที่เรียกร้อง เราก็จะขออยู่ถึง 30 ธ.ค. เพราะเรากลับไม่ได้ กลับไปก็ไม่มีที่ทำกิน" นายยศวัจน์ กล่าว
ด้านนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) อีกกลุ่มเกษตรกรที่ปักหลักชุมนุมที่หน้าธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การมาครั้งนี้ไม่ได้มาขอแบงก์พักหนี้ เพราะเข้าใจดีกว่า คนเป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ แต่การมาครั้งนี้คือมาเพื่อบอกว่า สมาชิกเกษตรกรได้พยายามถึงที่สุดแล้วที่จะใช้หนี้ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาพืชผลการเกษตรไม่ดี ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และการทำเกษตรขึ้นกับดินฟ้าอากาศ มีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อรายได้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้
ดังนั้น วันนี้หลายคนจึงหวังจะให้แบงก์เข้าใจ อย่าเพิ่งยึดที่ทำกินของพวกเขา ให้เจ้าหนี้รับปากรัฐบาล เพราะหลายคนนอกจากไม่มีเงินจะใช้หนี้ เพราะทำนาทำไร่ขาดทุนแล้ว ยังถูกยึดที่ดินประกอบอาชีพ กลับบ้านไปก็ไม่มีที่ทำกิน เหมือนถูกบังคับให้หมดอาชีพหมดหนทาง
"หลายปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพอขึ้นมาก็ให้เกษตรกรพักชำระหนี้ แต่สิ่งที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า กระบวนการฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร มันไม่เป็นจริง ถึงมาชุมนุมหลายหน เจ้าหนี้ก็รับปาก รัฐบาลก็รับปาก แต่ไม่เคยนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ ดังนั้น ในวันที่เพื่อนเราหลายคนกำลังหมดหวัง ไร้ที่ดินจะทำกิน เพราะแบงก์จะยึด หรือยึดไปแล้ว เราก็ต้องมาสู้มาอยู่ตรงนี้" นางกิมอัง กล่าว