นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้พิจารณาและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (พรป. กกต.) ซึ่งมีเนื้อหาให้ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ กกต.ได้คัดเลือกและประกาศผลไปแล้ว
ขณะที่ เนื้อความดังกล่าวอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเจาะจงที่อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคสอง ซึ่งระบุว่ากฎหมายต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และ 185 (1) ห้ามมิให้ สนช.ใช้สถานะไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ
โดยมาตรา 9 ของร่างแก้ไขที่กำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต.ได้คัดเลือกมาแล้วสิ้นสภาพไป ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง หากเป็นความผิดจริง สนช. ที่เสนอร่างฯ ก็จะสิ้นความเป็นสมาชิกภาพตามกฎหมายและเป็นคนละประเด็นกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับวาระการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต
นอกจากนี้ หากร่างแก้ไขนี้ถูกนำไปลงมติใน สนช. นายเรืองไกร ก็จะยื่นให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญเอาผิด สมาชิก สนช.ที่ลงมติรับร่างฯแก้ไขนี้อีกครั้งหนึ่งด้วย
'สมชาย' ยืนยัน 36 สนช. เดินหน้าแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.กกต. เชื่อไม่กระทบเลือกตั้ง
ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการ วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช.กล่าวถึงกรณีที่ 36 สนช.เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า
ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นตามสิทธิ์ของสมาชิก สนช.ที่จะเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อเสนอได้ แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุระเบียบวาระของ วิป สนช.และยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวิป สนช.
อย่างไรก็ตามหากมีการยื่นเรื่องดังกล่าวเข้ามายังวิป สนช.ก็จะส่งเรื่องต่อให้กับ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ เลขา ของสนช. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ทั้งทางเว็บไซต์ และหลายภาคส่วน รวมถึงประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ตามมาตรา 77 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 ส.ค. นี้ ดังนั้นต้องรอให้สำนักงานเลขาฯแจ้งผลการรับฟังความเห็นก่อน
ส่วนสมาชิก สนช.จะมีท่าทีถอยในเรื่องดังกล่าวหรือไม่นั้นส่วนตัวมองว่า จะถอยหรือไม่ถอยเป็นเรื่องที่สภาฯ จะต้องพิจารณาร่วมกัน แต่จากการพูดคุยกับนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช.ผู้เสนอขอแก้ไข ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขต่อไป ทำให้ต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน
และจากความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความเห็นว่ายังมีทางออกอื่น เช่น การออกระเบียบแก้ไขภายในของ กกต.
นอกจากนี้ วิป สนช.ยังพิจารณาถึงประเด็นการแก้ไขกฎหมายด้วยว่า หากแก้ไขง่ายอาจเป็นบรรทัดฐานให้กับสภาในอนาคตที่จะเข้ามาแก้ไขกฎหมายสำคัญได้ง่ายเกินไป แต่หากยังเดินหน้าต่อไปก็เชื่อว่าจะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง เพราะการแก้ไขตอนนี้ยังมีเวลาเพียงพอ
นายสมชาย กล่าวถึงผลการเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ สนช.ว่า ผลดังกล่าวมีกระบวนการจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่เข้ามาปั่นยอดโหวตไม่เห็นด้วย สูงถึงร้อยละ 94 ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เป็นยอดที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในเวลา 7 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีผู้โหวตเห็นด้วยแม้แต่รายเดียว จึงได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและประสาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เพื่อหาข้อมูลว่าเป็นการกระทำของคนกลุ่มใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :