นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความคิดเห็นกรณีการกำหนดวันเลือกตั้งผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “เลื่อนเลือกตั้ง เท่ากับ (อาจ)ไม่มีเลือกตั้ง” ระบุว่า 1. เมื่อมีข่าวการเลื่อนเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 บางคนอาจหงุดหงิดไม่พอใจคนที่ออกมาคัดค้านอย่างกว้างขวางด้วย #เลื่อนแม่มึงสิ พร้อมกับบ่นว่า เลื่อนแค่นี้จะเป็นจะตายหรือไง
2.การเลื่อนไป 1 เดือนจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เหมือนเป็นเวลาสั้นๆ แต่เวลาเพียง 1 เดือนนี้แหละที่อาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้อีกเลย
3. ดูเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่...ช่วยไม่ได้ ที่ผ่านมา 12 ปีนั้น เกินพอที่ทำให้การมองโลกในแง่ดี เปรียบเสมือนการหลอกตนเอง ไม่อยู่กับความเป็นจริง
4.12 ปีที่ผ่านมา มีรัฐประหาร 2 ครั้ง บอยคอตเลือกตั้ง 2 ครั้ง ยุบพรรคการเมือง 4 พรรค เลื่อนเลือกตั้งที่สัญญาไว้มาแล้ว 3 ครั้ง กำลังจะเลื่อนเป็นครั้งที่ 4
5.การเลื่อนเลือกตั้งไปอีก 1 เดือนนี้ มีนัยยะแอบแฝงหรือไม่ เพราะเชื่อว่า มีบางกลุ่ม บางพรรคไม่อยากเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง
6.การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะ แต่เดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงยิ่ง บทเรียนของมาเลเซียหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กำลังหลอกหลอนหลายคน
7.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 171 บัญญัติไว้ว่า "ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ" สรุปได้ง่ายๆว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 กำหนดให้
- ตราพระราชกฤษฎีกาฯ ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2562
- กำหนดให้ "วันเลือกตั้ง" ไม่ช้ากว่าวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
8. เห็นอย่างนี้...การกำหนดให้เลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็ทำได้สิ ช้าก่อน...อย่าเพิ่งโล่งใจ ลองไปดูบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กัน
9. รัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 268 บัญญัติไว้ว่า "ให้ดําเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3)และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว" สรุปได้ง่ายๆว่า รัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ "การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
10. "การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" ในรัฐธรรมนูญฯ ไม่เหมือนกับ "การกำหนดวันเลือกตั้ง" ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ทั้งตัวข้อความและสาระสำคัญ เพราะ "การเลือกตั้งแล้วเสร็จ" หมายถึงภารกิจของการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดของคณะกรรมการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งกินความตั้งแต่ การกำหนดวันเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม จนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ด้วย
11. เมื่อมีความแตกต่างกันใน "ภารกิจ" เช่นนี้ ต้องยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
12. เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้งต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และด้วยเหตุที่ข้อกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้งจึงไม่ควรช้ากว่าวันที่ 11 มีนาคม 2562
13. การเสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฯ เพราะคณะกรรมการเลือกตั้งอาจไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และอาจมีผู้ไปร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ คณะกรรมการเลือกตั้งถูกฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญา
14. หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด ตามบทบัญญัติในมาตรา 263 และ 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 15. หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน อาจไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกเมื่อไร ไม่มีใครทราบได้ เพราะบทเฉพาะกาลไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาในสถานการณ์จำลองนี้
16. ดังนั้น การเลื่อนเลือกตั้ง อาจนำไปสู่การไม่มีเลือกตั้งไปอีกนาน #เลื่อนเลือกตั้งเท่ากับไม่มีเลือกตั้ง