วันที่ 25 พ.ค. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เร่งผลักดันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับถึงการสร้างความรับรู้แก่ประชาชนเพื่อรับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่
จากข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเพื่อพิจารณาขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม พบว่ากลุ่มปัญหาหนี้ครัวเรือนมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มหนี้นักเรียนหรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2. กลุ่มหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 3. กลุ่มหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 4. กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ 5. กลุ่มหนี้นอกระบบ
และ 6. กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป โดยกระทรวงการคลังรับลูกตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ได้จัดโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันทางการเงินต่างๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างช่องทางเพื่อรายได้แก่ประชาชน เช่น การให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนกับผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดรายได้จากการตกงาน ให้เข้าโครงการส่งเสริมความรู้และรับสินเชื่อเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้เพื่อลดภาระหนี้ การสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรด้วยนวัตกรรมทันสมัย การจัดสร้างที่อยู่อาศัยโครงการบ้านเอื้ออาทรในราคาต่ำ อีกทั้งดำเนินการเพื่อแก้ไขความยากจนของประชาชนระดับรากหญ้าผ่านการสร้างความตระหนักรู้แก่ภาคครัวเรือนในการให้ความสำคัญกับการออม การกู้ยืม และการลงทุน เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันยังมีอัตราสูง แต่ภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 1 ปี 2565 มีจำนวนกว่า 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวหลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทิศทางด้านการจ้างงานที่เป็นบวกนี้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จจากการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง และทุกฝ่ายย้ำชัดถึงความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป
ธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการติดตามแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นรูปธรรมที่สุด เพื่อแบ่งเบาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน โดยนายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ไปด้วยกัน เชื่อมั่นว่าหากร่วมมือกันจะสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้ อีกทั้งกำชับทุกฝ่ายดูแลเรื่องการแก้ปัญหาการว่างงาน เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง สังคมภาพรวมมีความสุข และประชาชนทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น