วันที่ 6 ก.ย. 2565 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้าน ม.272 นำโดย ธนพร วิจันทร์, ธัชพงศ์ แกดำ และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในรัฐสภาทุกพรรค ขอให้ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนและรื้อมรดกของ คสช.
สืบเนื่องจากวันนี้รัฐสภาได้มีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกัน เรื่องการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยการเข้าชื่อการของประชาชน ให้ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หรือการตัดอำนาจ ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการลงมติเลือกบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี
"ขอเรียกร้องให้พวกท่านทั้งหลาย แสดงออกต่อเรื่องนี้ ด้วยการเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 272 เพียงมาตราเดียว เพื่อจะลดอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ โดยขอให้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวคราวเดียว 3 วาระรวด ซึ่งพวกท่านสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ดำเนินไปด้วยความเป็นธรรมและไม่ถูกครอบงำจากคนบางกลุ่มอีกต่อไป อันจะทำให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างสมความภาคภูมิ และเป็นไปตามประชามติของประชาชนในประเทศนี้อย่างแท้จริง"
ด้าน สมยศ กล่าวว่า ส.ว.เป็นส่วนเกินของระบบรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส.ว. จึงเป็นรากฐานของเผด็จการที่ฝังตัวอยู่ในอาคารแห่งนี้ซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ เป็นการทุจริตที่ถูกทำให้ถูกรัฐธรรมนูญ วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่านอกจากไปเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตยแล้วยังขาดจริยธรรมพื้นฐาน ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีต่อชาติบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยการนำกรรไกรมาตัดป้ายที่เขียนคำว่า ส.ว. สื่อถึงการตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ และยังมีการนำแพะที่เทียมคันไถมาแสดง เพื่อสื่อถึงการทำงานของเนติบริกรที่ไถระบอบไม่โปร่งใสนี้ให้ดำเนินไปได้
ในการนี้ ณัฐกานต์ ชูชนะ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนประธานสภาฯ รับมอบหนังสือ