ไม่พบผลการค้นหา
ครอบรอบ 19 ปี อุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายนักสิทธิมนุษยชน บทเรียนสำคัญของสังคมไทย

12 มี.ค.2566 ประทับจิตร นีละไพจิตร ลูกสาวของ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหมายตัวไปเมื่อ 12 มี.ค. 2547 ได้โพสต์ถึงเรื่องราวดังกล่าวซึ่งเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ครบรอบ 19 ปี บางส่วนของข้อความระบุว่า 

"วันนี้เมื่อ 19 ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง คุณสมชาย นีละไพจิตร คุณพ่อผู้เป็นดั่งดวงใจ ถูกพบเห็นเป็นครั้งสุดท้าย โดยผู้ผ่านไปมาบนถนนรามคำแหง และไม่เคยกลับมาบ้านอีกเลย และคงมีใครที่ได้อยู่กับเขาหากว่ามันเป็นวาระสุดท้ายของเขา ในขณะที่โอกาสนั้นไม่เป็นของดิฉันและครอบครัว ครั้งสุดท้ายที่ดิฉันได้เห็นหน้าคุณพ่อจริงๆ คือ ประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนหน้านั้น ความทรงจำที่ชัดเจนที่สุด คือข้อความเสียงที่คุณพ่อส่งมาให้ทางมือถือเวลาประมาน 18.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2547 ที่ดิฉันยังจำได้ดี “กินข้าวหรือยังลูก ไม่ได้เจอกันเลย คิดถึงนะ” เพียงแต่ดิฉันไม่มีโอกาสตอบข้อความอีกเลย เวลาที่คิดว่าพ่อรอคำตอบ เป็นความรู้สึกที่ทรมานที่สุด

ตลอดเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ดิฉันได้ลองใช้ “ทุกมุข” ในการรณรงค์ ในฐานะนักศึกษา NGO และอาจารย์ ด้วยการสนับสนุนจากทุกคนที่ดิฉันไปขายไอเดีย ไม่เคยโดนเบรค โดยบอกเลยว่า เป็นไปไม่ได้ ทุกคนเอาด้วยช่วยหมด ทั้งศิลปิน อาจารย์ นักรณรงค์ รวมทั้งครอบครัวคนหายอื่นๆ ขอขอบพระคุณทุกท่านจากหัวใจ สิ่งที่เฉพาะตัวดิฉันเองทำได้แก่ จัดแสดงภาพหน้าตาคนหาย นิทรรศการภาพวาด ทำของที่ระลึก ให้สัมภาษณ์ จัดงานสัมมนา ปักหมุดบริเวณที่เชื่อว่ามีคนหาย ทำทัวร์ย้อนเส้นทางวันทนายสมชายโดนอุ้ม ทำงานวิจัย ทำวิดิโอรณรงค์ ให้ความเห็นร่างกฎหมาย กระทั่งคิดการแสดงเวที ทำบทละครเวที ยังทำมาแล้ว

จนปีนี้ “หมดมุข” แต่คิดว่าไม่ได้เขียนความคิดให้มิตรสหายอ่านนานแล้ว จึงอยากใช้พื้นที่สื่อสารของตัวเองเขียนข้อความยาวนี้ (หากมีผู้สนใจอ่าน) ดิฉันขอรวบรวมบทเรียนสำคัญมาเล่าสู่กันฟังในข้อความนี้ ในวันที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 (ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ จึงคัดมาแค่สามเรื่อง)

(1) “สังคมจะจำไม่ได้ ถ้าสังคมไม่รู้ สังคมอาจจะไม่ต้องจำเลยก็ได้ แต่สังคมต้องรู้” ดิฉันไม่เคยต้องการใครจดจำความดีของพ่อ เพราะจะทำให้เรา “ไม่รู้” แต่ข้อเท็จจริงว่าทนายสมชาย “เป็นคนธรรมดา” ที่ถูกอุ้มหายไปได้ เขาเป็นเช่นคนทั่วไปในสังคม “ผู้มีความเห็นต่าง” ผู้ “ไม่ได้หายไปเองเฉยๆ แต่มีกระบวนการทำให้หาย” และข้อเท็จจริงที่ว่า “เขาหายไปอย่างไร” นั้นสำคัญมากกว่ากับคนทั้งสังคม เพื่อจะป้องกันไม่ให้คนหายอีก .. ปีที่ 19 นี้ ดิฉันภูมิใจว่า ยังเหลือเรื่องเดียวเท่านั้น คือ สังคมต้องรู้ว่า คนหายๆ ไปไหน ซึ่งตระหนักดีว่า ต้องใช้เวลา อาจจะมากกว่าช่วงชีวิตตัวเอง

(2) “ความอึดอัดทางอัตลักษณ์ และการซ้ำเติมจากความรับรู้แบบตื้นเขิน” คนหายคือส่วนของอัตลักษณ์ของคนในครอบครัว เมื่อเขาหายไป อัตลักษณ์ครอบครัวถูกทำลาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของครอบครัวก็ถูกทำลายด้วย และการหายที่ไม่รู้ชะตากรรมนั้นกลับกลายมาเป็น “อัตลักษณ์ใหม่” ของครอบครัวไปโดยปริยาย อัตลักษณ์ใหม่นี้สร้างความอึดอัดกับตัวตนของคนในครอบครัวอยู่ไม่น้อย อันเนื่องมาจากการหายไปอย่างไร้ร่องรอย ครอบครัวคนหายไม่มีแบบยอมสยบ ทุกคนมีแบบวิถีของตนเองซึ่งไม่เคยมีบริการช่วยเหลือ เครื่องมือทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกเอามาใช้เพื่อรองรับความอึดอัดจากอัตลักษณ์ใหม่นี้ ตั้งแต่พิธีเรียกขวัญ เรื่อยไปจนถึงพิธีสาปแช่ง แต่ความอึดอัดทางอัตลักษณ์ กลับถูกดูเบา ด้วยความรับรู้ตื้นเขิน เช่น “ครอบครัวคนหายไม่สามารถทำงานสิทธิมนุษยชนได้ เพราะเป็นพวกมีความแค้น ทำงานเพื่อการแก้แค้น” “คนพวกนี้ ไม่ควรคบหา เพราะมีคนหายในครอบครัว” จะเห็นได้ว่าระบบความเชื่อเวรกรรมไม่เคยถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุน เสริมพลังให้ครอบครัวและคนหาย แต่กลับถูกนำมาใช้แบบตื้นเขินเพื่อซ้ำเติมความอึดอัดให้แก่อัตลักษณ์ของเรา

(3) “คนหายเป็นเรื่องโครงสร้าง และวัฒนธรรม เราไม่เอาประชาธิปไตยไม่ได้” ยังจำได้ดีตอนไปยืนอ่านหนังสือ ประท้วงรัฐประหาร ปี 2557 มีผู้หวังดีมาเตือนว่า มีคนไม่พอใจ เพราะ “ลูกทนายสมชาย ต้องเป็นพวกเราสิ” ดิฉันพบว่า โครงสร้างและวัฒนธรรมเชิงอำนาจนิยม คือรากฐานของปัญหาอุ้มหาย และพิษจากการความยุติธรรมในระบอบอำนาจนิยมคือ เราได้ความยุติธรรมที่จำกัดจำเขียด จากนโยบายความยุติธรรมที่ใช้เราเป็นเครื่องมือ เราถูกทำให้กลายเป็นเหยื่อซ้ำๆ และในบรรดาครอบครัวคนหาย เราโดนฉีกทึ้งออกจากกัน เกลียดขี้หน้ากัน ด้วยการกำกับจากความยุติธรรมแบบลักลั่น และความไม่เป็นประชาธิปไตย ภาวะความไม่เป็นประชาธิปไตย และพื้นที่ประชาสังคมที่หดแคบ กัดกร่อนเครือข่ายครอบครัวให้อ่อนแอลง ขบวนการเคลื่อนไหวของเราเป็นแค่เรื่อง “อยากได้อย่างไม่สิ้นสุด” ดิฉันว่าการอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิ์และการอุ้มหายเป็นข้ออ้างรัฐประหารต้องหยุดได้แล้ว

ดิฉันไม่มีบทสรุป ไม่มีข้อเสนอแนะ ใจจริงหวังว่าจะไม่มีปีที่ 20 แต่ก็ไม่กลัวที่จะก้าวไปสู่ปีที่ 20 และทำงานต่อไปเพื่อให้ข้อเท็จจริงซึ่งถูกปิดบังอยู่ได้รับการเปิดเผย การถูกปกปิดมาถึง 20 ปี ทำให้เห็นชัดว่า ปัญหาโครงสร้างและวัฒนธรรมเกี่ยวข้องอย่างมาก และนั่นย่อมหมายความว่า การสะสางปัญหาเชิงโครงสร้างอาจช่วยกรุยทางให้ปัญหาคนหายได้"


ย้อนรอยคดีทนายสมชาย

ทั้งนี้ สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือเป็นทนายความให้กับผู้ต้องหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนทนายสมชายหายตัวประมาณ 1 สัปดาห์ เขาได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี โดยกล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องหาให้รับสารภาพ สมชายสรุปว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สงบเป็นเพราะคนที่นั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาจึงเสนอว่าจะล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อทั่วประเทศเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ ตามช่องทางในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 170 

สำหรับเหตุการณ์การหายตัวไป มีพยานหลักฐานยืนยันว่าช่วงค่ำวันที่ 12 มี.ค.2547 มีตำรวจ 5 คน ตั้งใจขับรถชนรถยนต์ของทนายสมชายและเป็นผู้นำตัวเขาขึ้นรถก่อนจะหายตัวไปจนปัจจุบัน 

ไอลอว์ระบุถึงความคืบหน้าในคดีว่า อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย ร่วมกับลูกๆ เป็นโจทก์ดำเนินคดีกับตำรวจ 5 คนเป็นจำเลย จำเลยทั้งหมดถูกฟ้องว่าได้กระทำอันมีลักษณะบังคับให้ให้ทนายสมชายต้องขึ้นรถ โดยชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์เป็นพยานว่า ได้ยินเสียงทนายสมชายร้องให้ปล่อยตัว อีกทั้งเห็นว่าทนายสมชายมีท่าทีขัดขืนแต่ไม่สามารถต้านทานแรงจำเลยได้จึงถูกบังคับให้เข้าไปอยู่ในรถในที่สุด เป็นการที่จำเลยที่ห้าทำให้ทนายสมชายจำยอมขึ้นรถโดยใช้กำลังเป็นเหตุให้ทนายสมชายถูกพรากไปซึ่งเสรีภาพในการเคลื่อนไหว จึงถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 309 ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 ผลปรากฏว่า ศาลฎีกาสั่งยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนเมื่อปี 2558 โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวไม่มีผู้มีอำนาจฟ้องคดีมาเป็นโจทก์ ในขณะที่ครอบครัวของทนายสมชายเองก็ไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนทนายสมชายได้ เพราะกฎหมายระบุว่า กรณีที่ครอบครัวจะฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เสียหายตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินการเองได้เท่านั้น แต่การดำเนินคดีนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ครอบครัวของทนายสมชายจึงไม่อาจเข้ามาเป็นโจทก์ได้

 นอกจากนี้ แม้โจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาประกอบการกล่าวอ้างว่า จำเลยได้ร่วมกันบีบบังคับผู้ต้องหาในคดีเผาโรงเรียนและปล้นอาวุธของกองทัพรับสารภาพ โดยวิธีการต่างๆ เช่น กรอกอุจจาระใส่ปาก ช็อตไฟฟ้า ทนายสมชายทราบเรื่องจึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า มีการใช้วิธีการที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม แต่ศาลฎีกาเห็นว่า มูลเหตุนี้รับฟังไม่ขึ้น เนื่องจากจำเลยเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าทนายสมชายเป็นคนทำหนังสือ อีกทั้งการยื่นหนังสือดังกล่าวยังไม่ถึงขนาดกระทบต่อตำแหน่งราชการของจำเลย ที่โจทก์อ้างว่ามีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ตอนที่มีกลุ่มคนพาทนายสมชายขึ้นรถนั้น พยานไม่ได้ยืนยันหนักแน่นว่ากลุ่มคนที่เห็นว่าฉุดกระชากทนายสมชายนั้นคือจำเลย ประกอบกับเวลาที่เห็นเหตุการณ์เป็นเวลามืด ระยะที่กลุ่มคนอยู่ก็ไกลมองเห็นได้ไม่ถนัด โจทก์อ้างเอกสารแสดงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จำเลยติดต่อกันถึง 75 ครั้ง พิกัดการใช้โทรศัพท์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการติดตามการเคลื่อนไหวของทนายสมชาย แต่เอกสารที่แสดงการใช้โทรศัพท์กลับเป็นเป็นเอกสารสำเนาที่ไม่ผู้รับรองความถูกต้อง ศาลฎีกาจึงยกฟ้องคดีนี้ในที่สุด