ไม่พบผลการค้นหา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี ปรับ 2 แสนบาท 'ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์' อดีต ส.ส. พปชร. ให้เพื่อนเสียบบัตรแทน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

วันที่ 25 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.9/2566 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ และ ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ จำเลย 

คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2562 เวลากลางวัน จำเลยในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยไม่ได้ลาประชุม ระหว่างเวลาประมาณ 13.30 ถึง 15.00 น. จำเลยไม่ได้อยู่ในที่ประชุมและได้ฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไว้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรของจำเลยแสดงตนและลงมติแทน โดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 172 

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า ระหว่างการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยมีกิจธุระสำคัญต้องออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปร่วมงานเสนเสวนา และจำเลยยังแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางโพว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติในวาระที่หนึ่ง เวลา 13.41 น. และวาระที่สาม เวลา 14.00 น. เพราะรีบออกไปร่วมงานเสวนา อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเวลาที่เกิดเหตุ 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยลงมติด้วยตนเองครั้งสุดท้ายเวลา 13.22 น. ต่อมาในการประชุมสภาฯ มีการลงมติ 2 ครั้ง โดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย คือเวลา 13.40 น. และ 14.00 น. อันเป็นการลงมติต่อเนื่องจากเวลา 13.22 น. แสดงว่ามีบุคคลรู้ว่าจำเลยออกจากห้องประชุมเมื่อใด และจะกลับเข้ามาประชุมอีกหรือไม่ รวมทั้งต้องมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยในครอบครองเพื่อลงมติแทนจำเลยได้ 

ทั้งเมื่อจำเลยกลับมาจากงานเสวนาก็ได้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองลงมติในการแสดงตน และลงมติพิจารณาระเบียบวาระต่อไปอีกหลายครั้งจนปิดการประชุม พฤติการณ์บ่งชี้ว่าต้องมีการคบคิดปรึกษากันมาก่อน

ต่อมากลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กดปุ่มแสดงตนและลงมติดังกล่าว และเบิกความต่อศาลสรุปความได้ว่า จำเลยไปร่วมงานเสวนา การแสดงผลลงมติตามฟ้องน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของระบบ หรืออาจมีผู้อื่นกดปุ่มลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย การให้การของจำเลยจึงมีลักษณะกลับไปกลับมาไม่น่าเชื่อถือ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยอยู่ลงมติด้วยตนเองไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งการที่ผลแสดงตนหรือลงมติจะมีชื่อสมาชิกคนใดลงคะแนนอย่างไร 

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีและพยานหลักฐานแวดล้อม มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไว้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยลงมติแทน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงพิพากษายืน