ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางปัญหาการแบกรับค่าใช้จ่ายของช่องทีวีดิจิทัลข่าว นักวิชาการสื่อจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ กสทช. ทบทวนมาตรการช่วยเหลือ เพื่อให้ช่องข่าวสามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นธรรมและเสรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาการวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ทบทวนมาตรการช่วยเหลือ ช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ หรือ 'ช่องดิจิทัลข่าว'

นักวิชาการสื่อ มองว่า แม้สื่อเก่าพยายามปรับตัวสู่โลกออนไลน์ แต่สื่อโทรทัศน์ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย และเผชิญการแข่งขันอย่างหนักกับสื่อออนไลน์ มาตรการช่วยเหลือจะทำให้องค์กรและบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่ออยู่รอด สามารถแข่งขันในทางธุรกิจได้อย่างเป็นธรรมและเสรี ในขณะที่สังคมยังจำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ จากผู้มีประสบการณ์ทางวิชาชีพ ผ่านระบบคัดกรองทางวารสารศาสตร์ 

เวทีเสวนา “ถ้าวันนี้สื่อต้องตาย? Journalism, the way we work must change” ยังได้รับความสนใจจากบุคคลในวงการสื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อย่างนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปล สะท้อนว่า ผู้ผลิตสื่อต้องมุ่งผลิตเนื้อหาที่มีคุณค่า โดยองค์กรสื่อควรมีจุดขายเฉพาะตัวที่ชัดเจน และเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น

สอดคล้องกับ นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการ เดอะ สแตนดาร์ด ที่กล่าวว่า ผู้ผลิตเนื้อหาต้องมีทักษะ 2 ด้าน ทั้งการค้นคว้าข้อมูลที่แหลมคม และสามารถถ่ายทอดไปยังผู้บริโภค หรือ 'เล่าเรื่อง' ได้อย่างน่าสนใจ พร้อมยกอย่างการผลิตเนื้อหาของซีเอ็นเอ็น ที่สามารถสร้างรูปแบบให้เหมาะสมกับช่องทางการนำเสนอที่แตกต่างกัน