ไม่พบผลการค้นหา
อัพเดทล่าสุด ตร.ยังไม่อนุญาตให้ออกมาจากประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ธรรมศาสตร์

เครือข่ายภาคประชาชนชี้แจงจัดกิจกรรม "We Walk…เดินมิตรภาพ" จากกรุงเทพไปขอนแก่นเพื่อสะท้อนปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เกษตรทางเลือก หลักประกันสุขภาพ และการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่มั่วสุมทางการเมืองหรือล้มรัฐบาล หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง ระดมกำลังกว่า 200 นายเข้าสกัด

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีได้ห้ามเครือข่ายประชาชน People GO Network จัดงาน “We Walk…เดินมิตรภาพ” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในช่วงเช้าที่ผ่านมา

โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เกษตรทางเลือก หลักประกันสุขภาพ และการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยมีประชาชนกว่า 100 คนเข้าร่วมกิจกรรมเดินเท้าจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 20 มกราคม 2561 – 17 กุมภาพันธ์ 2561

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมกล่าวว่า ในช่วงเวลาประมาณ 10.45 น.ทางเครือข่ายได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.คลองหลวงเพื่ออนุญาต

ให้ดำเนินกิจกรรม“We Walk…เดินมิตรภาพ” ต่อ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาห้ามไม่ให้ทางเครือข่ายดำเนินกิจกรรมดังกล่าวตั้งแต่เวลา 08.45 น. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อย และผลกระทบต่อการจราจร นอกจากนี้ยังอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุนทางการเมือง หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"แน่นอนนี้เป็นการละเมิดและขัดต่อหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน กิจกรรมที่พวกเราดำเนินการไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือล้มล้างรัฐบาล เพียงแต่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง" นางสุรีรัตน์กล่าว

ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน 4 องค์กรประกอบด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน,มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า

1.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีข้อสังเกตเชิงสรุปต่อประเทศไทยเมื่อมีนาคม 2560 แสดงถึงความกังวลในการบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 และเสนอแนะให้ไทยประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดหรือห้ามดำเนินกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเป็นการชุมนุมโดยสงบนั้น จึงขัดต่อข้อ 19 และข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี

2.พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้จำกัดประเภทของการชุมนุมไว้แต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.คลองหลวงซึ่งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจึงมีอำนาจในการดูแลและคุ้มครองการใช้เสรีภาพการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว การปฏิเสธว่าการชุมนุมอยู่นอกเหนือจากอำนาจของตนนั้น อาจถือเป็นการปฏิเสธการทำ “หน้าที่”

3.ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2557 นั้นเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจระบุขอบเขตของการชุมนุม หรือมั่วสุมทางการเมือง ได้อย่างกว้างขว้าง โดยปราศจากความรับผิด กลายเป็นปัจจัยทางกฎหมายที่จำกัดและละเมิดซึ่งสิทธิข้างต้นเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน

องค์กรสิทธิมนุษยชนย้ำในแถลงการณ์ว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อมาตรา 34 และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ และขัดต่อหลักนิติรัฐซึ่งเรียกร้องให้ตรวจสอบทุกอำนาจ อย่างชัดแจ้งการรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 133 (3) มิใช่การมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ที่ขัดกับข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 แต่อย่างใด การบังคับใช้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองต่อการดำเนินกิจกรรมเดินมิตรภาพ แม้เป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน แต่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเห็นถึงความจำเป็นในการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 และเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม และประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ได้จัดกิจกรรม “เดินเทใจให้เทพา” เดินหานายก หยุดทำลายชุมชนเพื่อยื่นหนังสือให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ที่จังหวัดสงขลาระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายนและต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สลายการชุมนุมจนเกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีผู้บาดเจ็บหลายคน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับแกนนำ 16 คนดำเนินคดี