ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวิถีชีวิตคนในปัจจุบันห่างไกลจากพระและศาสนา เราก็เริ่มจินตนาการขึ้นมาเองว่า พระที่แท้ควรเป็นเช่นไร

หลังจากภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 เลื่อนฉายไปโดยไม่มีกำหนด หลังไม่ผ่านเซนเซอร์จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดิีทัศน์แห่งชาติ เนื่องจากความไม่เหมาะสมด้านศาสนาในฉากที่มีตัวละคร เซียง ซึ่งบวชเป็นพระแล้วร้องไห้หน้าโรงศพ เป็นที่ตั้งคำถามกันในโซเชียลมีเดียว่าบวชเป็นพระแล้วร้องไห้กันไม่ได้เชียวหรือ

ทีม Voice On Being มองว่าปัญหาเรื่องพระก็ต้องให้พระเล่า จึงชวนคุยไขข้อข้องใจนี้กับพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระภิกษุวัดสร้อยทอง


คิดฮอด.png

เพราะคนห่างศาสนา พระเลยเสียน้ำตาไม่ได้

พระสงฆ์เองก็เป็นปัจเจกชนคนหนึ่งย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นธรรมดา พระมหาไพรวัลย์เล่าว่าชาวบ้านที่คุ้นเคยกับวัด ย่อมเห็นแง่มุมอื่นๆ ของพระที่สามารถพูดคุยกันสนุกสนานได้ในฐานะคนๆ หนึ่ง เมื่อขึ้นประกอบพิธีทางศาสนาก็ยังคงเป็นพระที่น่าเคารพได้

“พระก็ยังมีอารมณ์มีอารมณ์ มีความหัวเราะ มีความร้องไห้ นี่เป็นเรื่องปกติเลย ต้องมองพระในมิติของความเป็นจริง ซึ่งคนที่อยู่กับวัดจริงๆ อยู่กับศาสนาจริงๆ เขาจะเข้าใจเรื่องพวกนี้ ชาวบ้านบางคนเขาอยู่กับวัดมานาน เขาจะมีความสนิทสนมมีความคุ้นเคยกับพระในมิติอื่นๆ ด้วย"

ในสังคมเมืองที่วัดกับชาวบ้านมีช่องว่างระหว่างกันมากกว่าชนบท หลายๆ คนก็อาจจะมองไม่เห็นมิติอื่นๆ ของพระนอกจากการเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม เป็นที่เคารพนับถือ และคิดเอาว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพระแล้วจะต้องตัดขาดจากอารมณ์ความรู้สึกไป

“เหมือนเราดูหนังเห็นฉากพระร้องไห้ ในสายตาของเรา เราอาจจะมองว่าทำไมพระรูปนี้ไม่สำรวมเลย ทำไมถึงร้องไห้ แต่ในอีกมิติหนึ่งคือเราไม่เข้าใจว่าพระรูปนี้เขาเจออะไรมาบ้าง เขาต้องผ่านเรื่องแย่ๆ ในชีวิตอะไรมาบ้าง ถึงทำให้เขาต้องตกอยู่ในภาวะความรู้สึกอย่างนั้น


ความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่พระสาวกยังร้องไห้

สาเหตุที่การร้องไห้ของพระกลายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม อาจเพราะสังคมมักตั้งความคาดหวังกันเอาเองว่ากิริยาอาการของพระที่เหมาะที่ควรนั้นเป็นอย่างไร ทั้งที่ในคราวที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แม้แต่พระอานนท์ พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าก็ยังเสียน้ำตา

ไม่มีกฎข้อไหนของพระวินัยสงฆ์บอกว่าคุณต้องห้ามร้องไห้นี่ ไม่มีกฏของพระวินัยสงฆ์ข้อไหนบอกว่าคุณห้ามหัวเราะนี่ นี่มันไม่ใช่ คือต้องแยกให้ชัดนะ คือกฏเกณฑ์ พระวินัยของการอยู่ร่วมกันมันเป็นกฎที่ใช้บังคับว่าถ้าคุณเข้ามาอยู่ในหมู่สงฆ์แล้ว คุณต้องประพฤติอะไรบ้างภายใต้การที่จะยอมรับกันหรืออยู่ร่วมกันให้ได้

“หลักเกณฑ์จริงๆ ของการบัญญัติพระวินัยเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ชัดว่าเพื่อการยอมรับว่ามันเป็นความดีงามของหมู่สงฆ์ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปควบคุมพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ปลีกย่อย”

ถึงอย่างนั้น ในอีกมุมหนึ่งพระมหาไพรวัลย์มองว่าความคาดหวังที่สังคมมีต่อพระก็ไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจากพระสงฆ์นิกายเถรวาทในไทยก็มีบทบาทของพระในฐานะของ อัญชลีกรณีโย คือผู้ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้ ควรค่าแก่การรับทานจากชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็มีสิทธิที่จะคาดหวังกับพระเช่นนั้น

โดยความไม่เหมาะสมของพระนั้น หมู่สงฆ์เองก็มีวิธีจัดการมากมาย หากเป็นเรื่องที่ไม่หนักมากเช่นการฉันมื้อเย็น ก็ปลงอาบัติแล้วสำรวมระวังที่จะไม่ทำอีกได้ เพราะพระวัยรุ่นบวชใหม่ยังไม่ชินก็อาจจะหิวบ้างเป็นธรรมดา

“จริงๆ หนังมันก็สะท้อนมาจากความเป็นจริงที่มันเป็นอยู่นั่นแหละ เด็กคนที่สร้างหนังมันก็อยู่ในสังคมชนบท ภาพพระที่ฉันมาม่ากันตอนดึกอะไรแบบนี้ มันก็อยู่ในสังคมวัดซึ่งเห็นภาพเหล่านี้จนชินตา”


_MG_9888.JPG
  • พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระภิกษุวัดสร้อยทอง


พระเองก็ยังเป็นผู้ศึกษา พระเองก็ยังเป็นมนุษย์

พระมหาไพรวัลย์ อธิบายว่า โดยหลักการแล้วการบวชเข้าสู่พระพุทธศาสนานั้นก็คือการเรียนรู้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ออกบวชเพราะต้องการจะเรียนรู้และหาคำตอบของชีวิต พระสงฆ์เองก็ยังเป็นผู้อยู่ระหว่างการเรียนรู้ศึกษาธรรมเช่นกัน

คนไทยมักติดภาพว่าเมื่อบวชเป็นพระแล้วต้องหมดกิเลสเลย ทั้งที่ในความเป็นจริงของพระสงฆ์รูปหนึ่ง นอกจากมีความเป็นพระแล้ว ก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย มีอารมณ์และความรู้สึกเช่นกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ไม่ใช่บวชมาแล้วคือตัดทางโลก ตัดน่ะคือตัดวิถีความเป็นฆราวาส แต่มันไม่ได้ตัดความรู้สึกนึกคิดของความเป็นคน โยมเข้าใจไหม แต่ชาวบ้านชอบมองว่าพระออกมาบวชแล้วต้องตัดทางโลก แสดงอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ ต้องสงบเสงี่ยมสำรวม ซึ่งมันคนละความหมาย"


ผิดมากไหม บวชให้ลืมแฟน

เหตุผลในการบวชของแต่ละคนนั้นอาจต่างกันไป ทั้งการบวชเพราะเจอความทุกข์ บวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ บวชเพื่อทดลองหรือทดสอบดู พระมหาไพรวัลย์มองว่าเหตุผลในการบวชที่ต่างกันก็เป็นสิทธิของผู้บวชซึ่งไม่มีถูกหรือผิด

"พระเซียงก็คือตัวสะท้อนความเป็นจริงของพระรุ่นใหม่ในสังคมไทยเยอะแยะที่บวชกันแบบตามประเพณี ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ในมุมมองของอาตมามันเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ มันเป็นการสะท้อนวิธีคิดของวัยรุ่นในยุคใหม่ ในมิติหนึ่ง ในมิติของวัยรุ่นที่มีความรักแล้วไม่สมหวังจึงเข้ามาบวช มันไม่ได้เป็นเรื่องแปลกเลย ทุกคนมีสิทธิที่จะบวชเพราะเหตุผลภายใต้เงื่อนไขของตัวเอง”


เซียง.png
  • พระเซียง ตัวละครจากภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่บวชเพราะผิดหวังในรัก (ภาพจาก MV คนสุดท้ายของหัวใจ)

โดยปกติแล้วเหตุผลที่คนๆ หนึ่งบวชพระนั้นก็หลากหลาย บางคนก็มีเรื่องราวเหตุการณ์อันเป็นจุดหักเหในชีวิตที่ทำให้ตัดสินใจบวช อารมณ์ความรู้สึกจากสิ่งที่เผชิญก็อาจจะยังหลงเหลืออยู่ได้

ในสมัยพุทธกาลเองมีพระจำนวนมากที่บวชแล้วประพฤติพรหมจรรย์ได้ไม่ตลอดรอดฝั่งและอยากจะสึก เพราะการบวชอาจไม่ได้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนบางคน การจะบวชแล้วลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสก็สามารถทำได้

พระไพรวัลย์ยกตัวอย่างถึงเรื่องของพระจุลกาลกับพระมหากาลจากพระธรรมบทว่าพระจุลกาลเข้าบวชแล้วยังนึกถึงภรรยาเก่า

“จุลกาลเนี่ยพอเข้ามาบวชปุ๊บนึกถึงภรรยาเก่า ภรรยายังไม่ตายนะ แต่นึกถึงภรรยาเก่ามากก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติในการบำเพ็ญสมธรรม แต่ถามว่าพระจุลกาลมีสิทธิบวชไหม พระจุลกาลมีสิทธิบวช แต่เมื่อใจมันไม่ได้น้อมไปในการบวชเนี่ย มันนึกถึงอดีตภรรยา สุดท้ายพระจุลกาลก็สึก แล้วถามว่าการสึกของพระจุลกาลเนี่ยเป็นบาปไหม มันก็ไม่ได้เป็นบาป มันก็ไม่ได้เป็นความผิด พระจุลกาลก็มีสิทธิที่จะเลือก”


เมื่อพระร้องไห้ ในความเป็นจริง

เมื่อภาพของพระที่ตัดขาดจากความทุกข์ บวชแล้วมีแต่ความปีติ ไร้ความคิดเครียดกังวลนั้นเป็นเพียงมายาคติ และพระเองก็มีความเป็นมนุษย์ในฐานะปัจเจกคนหนึ่งเช่นกัน เราจึงถามพระไพรวัลย์ว่าในความเป็นจริงแล้ว หากพระร้องไห้ กัลยาณมิตรของสงฆ์ควรทำอย่างไร

“ก็ต้องปลอบเขาสิ ปลอบเขา ถามเขาด้วยความห่วงใย อย่าว่าแต่พระร้องไห้เลย พระผูกคอตายก็มีเยอะแยะนะ อันนี้มันหนักกว่าการร้องไห้อีกนะ มันหมายความว่าโดยสรุปแล้วมนุษย์ทุกคนก็ต้องการความเอาอกเอาใจ ทุกคนมีปัญหา ไม่ว่าคุณจะอยู่ภายใต้ผ้าเหลือง คุณจะอยู่ภายใต้ชุดฆราวาส ชุดความเป็นพระ ชุดข้าราชการหรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความรู้สึก ความคิด อารมณ์ของมนุษย์ อาตมาว่ามันไม่ใช่หรอก

"โดยลึกๆ แล้ว มนุษย์ทุกคนต้องการความเห็นอกเห็นใจ แล้วมันก็สะท้อนได้ชัดว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญหา มีความปวดร้าว มีความเจ็บปวดอยู่ภายใต้ความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างกัน”


ชมคลิป