ไอลีน แม็คนีลี นักวิจัยจากวิทยาลัยสาธารณสุข ที.เอช. ชาน ในสังกัดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ เผยแพร่งานวิจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพของกลุ่มผู้หญิงที่เป็นแอร์โฮสเตสลงในวารสาร Environmental Health เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. บ่งชี้ว่าแอร์โฮสเตสมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคมะเร็งมากกว่าผู้หญิงที่ประกอบอาชีพอื่นๆ
งานวิจัยของแม็คนีลีศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นแอร์โฮสเตสหญิงในสหรัฐฯ รวมกว่า 5,366 คน เปรียบเทียบกับผู้หญิงวัยเดียวกันอีก 2,729 คน ที่ประกอบอาชีพแตกต่างกันไป พบว่าร้อยละ 51 ของแอร์โฮสเตสที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง รวมถึงมะเร็งที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่นๆ ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ในวัยเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาว่าแอร์โฮสเตสที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งและได้รับการรักษาบำบัด มีโอกาสหายจากโรคมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้ งานวิจัยก็ยังไม่ได้สรุปหรือประเมินว่าอะไรเป็นสาเหตุให้แอร์โฮสเตสเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคมะเร็งมากกว่าอาชีพอื่นๆ แต่มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าการทำงานที่อยู่กับความกดอากาศสูงอยู่เป็นประจำ การเดินทางข้ามโซนเวลาในแต่ละซีกโลก การอยู่ในห้องโดยสารที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเทและเสี่ยงต่อรังสีก่อประจุ ทำให้แอร์โฮสเตสมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเครียด กดดัน ซึมเศร้า นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ และติดแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งคาดดว่าเกี่ยวพันกับการแต่งงานและมีบุตรช้า ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่แต่งงานและมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อยและยังสุขภาพแข็งแรง
ทั้งนี้ อาชีพแอร์โฮสเตสในสหรัฐฯ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานคุ้มครองสุขภาพแรงงานของสหรัฐฯ จนกระทั่งปี 2557 แต่การคุ้มครองดังกล่าวไม่รวมการตรวจวัดและเก็บข้อมูลว่าแอร์โฮสเตสแต่ละคนได้รับรังสีก่อประจุระหว่างให้บริการบนเครื่องบินในปริมาณมากน้อยเพียงใด และรังสีดังกล่าวมีผลต่อสุขภาพของพนักงานแต่ละคนหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: