ราวๆ ห้าทุ่มของวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 หรือวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหาร โดย คสช. เมื่อสำรวจกระแสความนิยมในการเล่นทวิตเตอร์ของคนไทย จะพบว่า แฮชแท็ก #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้ขึ้นติดเทรนด์เป็นอันดับ 1 ของโลกทวิตเตอร์ประเทศไทย ด้วยตัวเลขการทวิต มากกว่า 390,000 ครั้ง เช้าวันนี้ (23 พฤษภาคม 2561) ตกลงมาเป็นอันดับสาม ด้วยตัวเลขการทวิต มากกว่า 540,000 ครั้ง
สนามการต่อสู้ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่ได้จำกัดอยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือองค์การสหประชาชาชาติเท่านั้น แต่ในโลกทวิตเตอร์ ก็พบการต่อสู้ผ่านแฮชแท็กฮิต #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกว่า 'การแซะ' แบบได้ใจและเฉียบคม ชนิดชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมของระบอบเผด็จการในหมู่คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี บทความชิ้นนี้ ตั้งใจชี้ให้เห็น 'ความเห็น' ของคนรุ่นใหม่ ต่อรัฐบาลเผด็จการ หรือนัยหนึ่ง พวกเขาตั้งคำถามกับรัฐบาลเผด็จการอย่างไรบ้าง ในวาระ 4 ปีของการรัฐประหารที่ดำเนินมาถึงอีกวาระหนึ่ง ?
1. การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของทหาร ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งเล่าว่า จากสมัยเด็กๆ ที่จดจำว่า ทหาร เป็นเหมือน 'ฮีโร่' มาถึงจุดที่จำว่า “รัฐประหารคือการทำลายประชาธิปไตย” สอดคล้องกับอีกทวิตที่บอกว่า “แรกๆ ก็ยอมรับนะว่า ถ้าพวกลุงแกเข้ามาแล้วมันน่าจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง” ก่อนอธิบายถึงระบอบเผด็จการว่า “แต่อยู่ๆ ไป กูทรมารเว่อร์ เสรีภาพทางความคิดคือโดนบล็อก” ทั้งยังตั้งคำถามถึงภาษีที่ตัวเองจ่ายไปให้กับผู้ปกครองด้วยว่า “เอาเงินกูไปใช้ไร้สาระแล้วตรวจสอบไม่ได้” สอดคล้องกับอีกทวิตที่ตั้งคำถามกับการใช้ภาษีของประชาชน “เบื่อกลุ่มรัฐบาลชุดนี้มาก ...วันๆ นั่งกินเงินภาษีประชาชนแล้วบอกตัวเองว่า เป็นนายกที่เงินเดือนน้อยที่สุดแล้ว อยากบอกว่าเงินเดือนที่คุณได้อ่ะ มันมากเกินไปสำหรับผลงานที่คุณทำออกมาด้วยซ้ำ”
2. รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องได้ เช่น “ครอบครัวใครทำธุรกิจค้าขายจะเห็นโคตรชัดว่า นี่มันเศรษฐกิจตกต่ำ” ขณะที่อีกทวิตหนึ่ง โยงปัญหาปากท้องกับการเลือกตั้งโดยตรง “บริหารประเทศห่วย ใครๆ ก็ต้องอยากเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว แค่บางคนอาจจะไม่กล้าออกมาพูดแค่นั้นเอง...เราสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับอะไรที่ไร้สาระสุดๆ เศรษฐกิจย่ำแย่ ของแพง ค่าครองชีพสูงแต่คุณภาพชีวิตต่ำ”
3. ตั้งคำถามกับเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น ที่ปรากฎในรัฐบาลทหาร พวกเขาอธิบายการโกงตลอดหลายปีมานี้ ว่ามีลักษณะ “โกงแล้วเอาผิดไม่ได้” และยกเคสการทุจริต เช่น กรณีนาฬิกาของพลเอกประวิตร กรณีเปรมชัย เสือดำ บางทวิต ใช้วิธีการแตกย่อยการทุจริตเป็นข้อๆ เรียงต่อกันหลายๆทวิต เช่น มีการขุดคุ้ย เรื่องการทุจริตโดยญาติพี่น้องตระกูลจันทร์โอชา “น้องชายท่านนายกที่เป็นสมาชิก สนช. มาทำงานแค่ 6 จาก 400 วันแต่รับเงินเดือนเต็ม” “แต่งตั้งหลานชายมาเป็นทหารติดยศร้อยโท โดยไม่ต้องสอบและรับเงินเดือนเต็ม” “ให้เมียน้องชายนั่งเครื่องบิน C 130 ไปเปิดฝายที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ผ่านไป 3 วันพัง
4. มีการเทียบเคียงเหตุการณ์ในรัฐบาลเผด็จการอื่นๆ กับ รัฐบาลเผด็จในปัจจุบัน เช่น การยกเคส 'การล่าสัตว์ทุ่งใหญ่นเรศวร' ขึ้นมาอธิบายในฐานะสาเหตุของการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2516 ซึ่งในเหตุการณ์นั้น จบลงที่ 'เรียกร้องประชาธิปไตย' และ 'มีคนตาย' ขณะที่ปี 2561 ได้เกิดกรณีเสือดำเปรมชัย มีการ 'เรียกร้องประชาธิปไตย' ในโอกาสครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร แต่ 'หวังว่าจะไม่มีใครตาย' ผู้ทวิตใช้คำกำกับด้วยว่า ทั้งหมดนี้คือ 'วนลูปเดิม'
5. แชร์โปสเตอร์ที่องค์กรอื่นๆ ได้จัดทำ แล้วแสดงความเห็นประกอบ เช่น แชร์โปสเตอร์ว่า ขณะนี้ รัฐประหารในประเทศไทยนับว่า เกิดบ่อยเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน พร้อมให้ความเห็นประกอบว่า “พวกไดโนเสาร์ออกมารัฐประหาร จนประเทศชาติแม่งจะล้าหลังกว่าพม่า มาเลย์ ฟิลิปปินส์ อินโด อยู่ละ” และ แชร์โปสเตอร์ที่ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ใช้ในการประท้วงเมื่อวานนี้ หนึ่งในป้ายที่ถูกแชร์ซ้ำเยอะมาก ถ่ายโดยช่างภาพของนิตยสารเวย์ “เราไม่ได้มายึดทำเนียบ คสช.ต่างหากยึดมาตั้ง 4 ปี แล้ว ไอ่สัส”
6. แชร์โควตของผู้มีอำนาจในช่วงเวลานี้ แล้วแสดงความเห็นประกอบ เช่น แชร์โควตของ นายกรัฐมนตรีที่เคยกล่าวไว้ในปี 2558 ว่า “จะประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560” พร้อมแสดงความเห็นประกอบว่า “ตระบัดสัตย์ บิดพลิ้ว พูดพล่อย มีครบ จบในคนเดียว”
7. ทวิตในกลุ่มเสียดสีโดยตรง อ่านแล้วเจ็บแสบอยู่ทีเดียว เช่น “เด็กไทยควรเรียนให้จบ แล้วย้ายประเทศซะ” “ตั้งแต่เกิดมา ได้เลือกตั้งแค่ประธานนักเรียน” ขณะที่อีกทวิตหนึ่ง อธิบายผ่านกรณีการให้ทุนการศึกษาโดยต่างประเทศว่า “ครูวิชากฎหมายบอกว่า เพราะเรามีการปกครองแบบนี้ประเทศอื่นเขาเลยไม่อยากจะมีความสัมพันธ์ด้วย” หรืออีกทวิตที่อธิบายถึงปัญหาทางการเมืองของไทย แล้วจบว่า “มึงดูชีวิตเด็กรุ่นกู ที่อยู่ยุคการเมืองส้นตีน 20 กว่าปีแรกในชีวิต คิดว่าเด็กเจนฯ นี้ (อายุไม่เกิน 20) อยากหาทางออกแค่ไหน” และ “เพื่อนเป็นต่างชาติ เค้าบอกประเทศยูไม่ได้ถอยหลัง แต่มันไม่เคยเดินหน้าเลยมากกว่า กูนี่นั่งหน้าชา”
8. อธิบายความหมายของ 'การเลือกตั้ง' ในฐานะ “การเรียกร้องที่ชอบธรรมที่สุดของการเรียกร้องทุกอย่างในโลกการเมือง” “การตกลงร่วมกันแบบมีกติกาให้ประเทศไปต่อได้” ชี้ให้เห็นว่า “การไม่ยอมรับเสียงของประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริงต่างหากผิดที่สุด” สอดคล้องกับอีกทวิตที่เสนอว่า “เลิกทำโพลที่บอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากเลือกตั้งเหอะ ดูก็รู้ว่าตอแหล แน่จริงเปิดให้เลือกเลย...ถ้าเขาอยากอยู่กับรัฐบาลประยุทธ์ เดี๋ยวมันต้องออกไปกาคูหากาให้พรรคมึง..กลัวอะไร”
9. ภาพนิสิต ประธานสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชูเอกสาร ที่อธิบายว่าคือ “หนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ที่จะนำไปยื่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์” ได้รับการรีทวิตมากกว่า 16,000 ครั้ง จะอ่านตัวเลขนี้ เป็นจำนวนคนที่ชอบการเสียดสีนี้ก็ได้ แต่จะอ่านเป็นจำนวนคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองก็ได้เช่นกัน
เหล่านี้คือ 'ความเห็น' ในโลกทวิตเตอร์ ที่ปรากฎผ่านแฮชแท็ก #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะชี้ให้เห็นอยู่สามเรื่อง (หนึ่ง) ชี้ให้เห็นวิธีการต่อสู้ในทางการเมือง นอกเหนือจากการออนกราวด์บนท้องถนน ซึ่งมาในลักษณะการทวิตข้อความอย่างสั้นๆ ที่ทำได้ง่าย โดนใจ คมคาย แยบยล (สอง) สนามการต่อสู้ในโลกทวิตเตอร์เกิดขึ้นมานานแล้ว ผ่านการเรียกร้องในประเด็นสาธารณะเรื่องต่างๆ แต่สำหรับประเด็นการเลือกตั้ง ไม่มีการแสดงความเห็นในทวิตครั้งใด จะได้รับความนิยมมากไปกว่า ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ในโอกาส 4 ปีของการรัฐประหาร ที่เป็นเช่นนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการสื่อ 'สาร' แสดง 'อารมณ์' ของผู้ใช้ทวิตที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการ (สาม) สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดในอนาคต พรรคการเมืองจะเชื้อเชิญ ผู้เลือกตั้ง กลุ่มผู้ใช้ทวิต เข้าไปเป็นฐานเสียงทางการเมืองได้อย่างไร ? สำหรับสังคมไทย เราจะเชื้อเชิญ ประชาชน พลเมือง กลุ่มผู้ใช้ทวิตเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในเรื่องต่างๆได้อย่างไร ?