ทั้งนี้ แม้ว่าฝรั่งเศสจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ามาก มีพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนทุกระดับได้อย่างเข้มแข็ง และมีระบบรัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่ง แต่กระนั้น การประท้วง การชุมนุมเรียกร้อง และการนัดหยุดงาน ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในฝรั่งเศส เพราะการเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรีเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานประจำชาติของฝรั่งเศส ทหารและตำรวจของฝรั่งเศสเคยชินและไม่รับมือด้วยความรุนแรงและไม่มีการปราบปรามใดๆ
เหตุที่การประท้วงครั้งนี้โด่งดัง เพราะเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดของฝรั่งเศสในรอบ 50 ปี นับแต่เหตุการณ์การประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1968 ซึ่งนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศฝรั่งเศสลุกฮือประท้วงรัฐบาลของประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในเวลานั้นได้ จนต้องประกาศยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ และนำไปสู่การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีในปีถัดมา
การประท้วงครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะรัฐบาลของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลพร้อมกับการประกาศสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทำให้น้ำมันดีเซลขึ้นราคา สินค้า บริการ และการขนส่ง ที่ต้องพึ่งน้ำมันดีเซล ต่างได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ทำให้บรรดาประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าต่างรับไม่ไหว
ทั้งนี้ การประท้วงเริ่มจากการที่สตรีรายหนึ่งทำคลิปประณามประธานาธิบดีมาครงและชักชวนให้คนอื่นๆ นำเสื้อกั๊กสีเหลืองซึ่งเป็นสิ่งที่รถทุกคันในฝรั่งเศสต้องมีตามกฏหมายจราจรเพื่อไว้ใส่ในเวลาที่รถยนต์เสียข้างทางและต้องยืนโบกขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่ามีประชาชนหลายแสนร่วมประท้วงด้วย ซึ่งมีทั้งชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นกลางระดับล่างที่ได้รับผลกระทบจากภาษีน้ำมันดีเซล และเมื่อมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากก็ยากที่จะควบคุมอารมณ์คลั่งแค้นของฝูงชน นำไปสู่การทุบกระจกอาคารต่างๆ การเผารถยนต์ในกรุงปารีส และต้องใช้ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์
อันที่จริง ความคลั่งแค้นของประชาชนไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ภาษีน้ำมันดีเซลเท่านั้น แต่พุ่งเป้าไปที่ตัวประธานาธิบดีมาครง ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นประธานาธิบดีของชนชั้นรากหญ้า แต่กลับหักอกชนชั้นรากหญ้า
ประธานาธิบดีมาครง ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2017 เพราะเขาวางตัวเป็นผู้สมัครฝ่ายเสรีนิยมสายกลาง เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อพรรค 'อองมาร์ช' (พรรคเดินหน้า) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กในกระแสการเมืองที่ประชาชนกำลังเบื่อหน่ายบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ๆ ที่มีแต่ข่าวอื้อฉาว
มาครงนำพรรค 'อองมาร์ช' หาเสียงด้วยการเน้นเป้าหมายไปที่ชนชั้นรากหญ้า เอาชนชั้นรากหญ้าเป็นฐานเสียง มีการเสนอแนวนโยบายว่าจะเป็นผู้นำของขบวนการของชนชั้นรากหญ้า เสนอแผนการใหม่ๆ ในการปฏิรูปภาครัฐหลายแผน ประกาศแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนระดับรากหญ้า มาครงและทีมงานของพรรคใช้วิธีการหาเสียงด้วยการเดินเคาะประตูบ้านถึงสามแสนหลังทั่วประเทศ โดยเน้นบ้านของชนชั้นรากหญ้า ตามเวทีปราศรัยหาเสียงก็มีการเชิญวงดนตรีแนวป็อปมาเป็นสีสันเพื่อให้สื่อสารกับประชาชนได้ง่ายขึ้น
จากภูมิหลังส่วนตัวที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงแต่เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา การศึกษาไม่ได้เลอเลิศ และจากแนวนโยบายที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นรากหญ้า รวมทั้งจากบุคลิกและการวางตัว ทำให้ชนชั้นรากหญ้ามองว่ามาครงคือความหวังของพวกเขา สามารถเป็นผู้เปลี่ยนแปลงชีวิต และนำอนาคตที่ดีมาให้พวกเขาได้
ด้วยเหตุนั้น ชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นกลางระดับล่างจึงโกรธเคืองมาครงอย่างมาก เมื่อเขากลับดำเนินนโยบายหลายประการไม่สอดคล้องกับที่เคยหาเสียง
บรรดาผู้ประท้วงที่ใส่เสื้อกั๊กสีเหลืองต่างประณามมาครงว่าเป็นประธานาธิบดีของคนรวย ช่วยเหลือแต่เศรษฐีและบรรดาธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะมาครงประกาศนโยบายลดภาษีสำหรับภาคธุรกิจ แต่ไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นกลาง จนล่าสุดรัฐบาลต้องประกาศยกเลิกการขึ้นภาษีน้ำมัน เพื่อบรรเทาความโกรธเคืองของฝูงชน และบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์การประท้วง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสนี้ ให้บทเรียนที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ ข้อที่หนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยนั้นเปิดช่องทางให้ประชาชนส่งเสียงแสดงความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลได้ โดยไม่ถูกจับกุมหรือไล่ยิง และ ข้อที่สอง ผู้นำของประเทศ แม้ชนะการเลือกตั้งมา ก็ต้องรักษาสัญญา ทำตามสัญญา ไม่เอาใจแต่เศรษฐีและชนชั้นนำจนละเลยความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากคนจน
อ่านเพิ่มเติม: