ผลสำรวจ เกี่ยวกับคนยุคมิลเลเนียล บอกไว้ว่า คนรุ่นมิลเลเนียลให้คุณค่ากับการพัฒนาตนเอง และการจัดสมดุลการงานกับชีวิตมากกว่าเงินตรา และสถานภาพทางสังคม แต่พวกเขาเหล่านี้ยังมีความทะเยอทะยาน และเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ว่าจะสามารถนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานได้ และด้วยลักษณะส่วนตัวที่ติดมากับคนยุคมิลเลเนียล ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ทำให้เขาเหล่านี้ร้อยละ 73 เลือกความสมดุลระหว่างการงานกับชีวิต มากกว่าการเลือกรับเงินเดือนสูง และ ร้อยละ 82 ให้คุณค่ากับการจัดสมดุลการงานกับชีวิต มากกว่าตำแหน่งหน้าที่ในองค์กร และที่ต่างไปจากคนยุคก่อนคือ คนรุ่นมิลเลเนียลร้อยละ 42 เห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะตกงาน มากกว่าที่จะทำงานที่ไม่ชอบ โดยค่านิยมเช่นนี้จะเห็นในประเทศชิลี เลบานอน และเปรู
จากข้อมูลยังพบว่าในปี พ.ศ. 2568 กลุ่มมิลเลเนียลจะเข้ามาเป็นคนทำงานหลักในภาคธุรกิจมากถึงร้อยละ 44 มากกว่าคนเจเนอเรชั่นอื่นๆ และเทรนด์นี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ตัวเลขของคนกลุ่มมิลเลเนียลที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงหรือ Senior Positon จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระบบ
และหากมองในด้านการประเมินผลที่มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานแล้วพบว่าคนยุคมิลเลเนียลมุ่งให้ความสำคัญกับ Learderskill มากที่สุด เพราะพวกเขาเป็นเปี่ยมด้วยความมั่นใจ เนื่องจากมองว่าทักษะนี้สำคัญต่อการประสบความสำเร็จของธุรกิจ
ด้าน รศ.ดร. สมบัติ กุสุมาวลี คณบดีคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า การที่คนยุคมิลเลเนียลให้ความสำคัญกับ Leaderskill นั้นอาจไม่จริงเสมอไป แต่อาจเกิดจากคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขามากกว่าที่คาดหวังอยากเห็นคนยุคมิลเลเนียลมีสภาวะความเป็นผู้นำ เพราะคนยุคนี้จะมุ่งสร้างความโดดเด่นมากกว่า อีกทั้งคนยุคมิลเลเนียลมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าคนรุ่นก่อนเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อเฟื้อและมีเทคโนโลยีพร้อมมากกว่าคนรุ่นก่อน
ขณะที่นิตยสารฟอร์บส์ ได้จัดทำเนียบคนดังในวงการต่างๆจำนวน 600 คนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี ที่เป็นคนรุ่นใหม่และมีความต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลก มีความมุ่งมั่นและมีความร้อนรนที่จะแสดงในโลกได้เห็น เกิดจากการคัดเลือกหนุ่มสาวที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งทางวอยซ์ออนไลน์ คัดเลือกมา 5 คนจาก 5 สาขา ดังนี้
1. Kendrick Lamar ศิลปินเพลงฮิปฮอปผู้นี้เติบโตมาใน Compton, California เมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นฉากหลังในบทเพลงของเขาอยู่บ่อยครั้ง และ Lamar เองใช้แรงบันดาลใจจากภูมิหลังของตัวเองมาทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
Lamar เคยร่วมมือกับ Reebok สร้างสรรค์รองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีสีที่ต่างกันในสองด้านของรองเท้าคือ สีแดงกับสีน้ำเงิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของแก๊ง Bloods และ Crips
Lamar เป็นศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี 7 รางวัลทำรายได้ 78.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวม 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทำได้ในปี 2560 ที่ถือเป็นปีที่เขามารายได้มากที่สุดนับตั้งแต่เป็นนักดนตรีอาชีพ
นอกจากนี้ Lamar เคยเข้าทำเนียบขาวมาแล้ว 2 ครั้ง ได้รับค่าตัวจากการแสดงมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคืน โดย Lamar กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการกลัวล้มเหลว คุณต้องไม่กลัวที่จะล้มเหลว เมื่อใดที่คุณลุกขึ้นสู้และหยุดความกลัวว่าจะล้มเหลวได้แล้ว เมื่อนั้นคุณจะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะทำผิดพลาดหรือทำไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ คุณก็แค่เริ่มต้นใหม่ และลองพยายามทำใหม่อีกครั้งก็แค่นั้นเอง"
2. Amandla Srenberg นักแสดงและนักเขียน หลายคนคงรู้จักเธอจากบทของ "สาวน้อยลู" จากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ในปี 2555 และมีผลงานล่าสุดเรื่อง Everything, Everything ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนขายดีชื่อเดียวกับภาพยนตร์ เข้าฉายในปี 2560 ทำเงินไป 61.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้ทุนสร้างแค่ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากเป็นนักแสดงแล้ว Stenberg ยังแต่งนวนิยายกราฟิกหลายตอนจบชื่อ Niobe : She Is Life ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องแรกที่มีการวางจำหน่ายในต่างประเทศ ร่วมกับนักเขียนหญิงผิวสีอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นศิลปินและตัวละครหลักของเรื่องนี้
3. Peter Yang ผู้ร่วมก่อตั้ง POKE'WORKS เมื่อปีที่แล้ว (60) คลิปสาธิตการทำซูชิเบอร์ริโต้ของร้าน POKE'WORKS ของเขากลายเป็นกระแสบนเฟซบุ๊ก และมียอดวิวสูงถึง 49 ล้านวิว นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาร้านอาหารจำนวน 6 ที่นั่งในย่านแมนฮัตตันก็มีคนเข้ามาต่อคิวนานถึง 2 ชม. เพื่อรอกินอาหารในร้านของเขา
ร้านอาหารของ Yang เสิร์ฟอาหารที่ชื่อว่า Poke (โป-เก้) ให้กับลูกค้า โดยอาหารทำจากปลาดิบจานนี้เป็นอาหารฮาวายโบราณ POKE'WORKS เสิร์ฟอาหารจานเดียว (เนื้อปลากับบหมี่ กับข้าว หรือกับควินัว) สลัด รวมถึงซูชิเบอร์ริโต้ที่ปรุงตามสไตล์ Chipotle โดยราคาต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คาดว่าในปี 2561 นี้ร้านของ Yang จะมีรายได้ประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากร้านทั้ง 13 สาขาทั่วสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
สิ่งที่น่าสนใจในตัว Yang คือ เขาและครอบครัวอพยพมาจากประเทศจีน ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ มาตั้งรกรากที่ซาน ดิเอโก และงานแรกที่ทำคือเป็นพนักงานร้านเบอร์เกอร์แบบไดร์ฟทรู ตั้งเป้าจะเปิดสาขา POKE'WORKS ให้ได้ 100 สาขาภายในปี 2563
4. Karlie Klossy นางแบบสาวใจบุญผู้ก่อตั้ง Kode With Klossy โครงการที่สอนพื้นฐานการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กผู้หญิงกว่า 500 คนโดยเธอให้เหตุผลว่า ตอนแรกก็ไม่มีแผนจะตั้งองค์กรด้านการศึกษาที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่ความจริงแล้วคือความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองที่อยากรู้ว่า coding คืออะไร เนื่องจากสิ่งนี้สามารถสร้างกิจการมูลค่ามหาศาลขึ้นมาได้
Kode With Klossy เปิดค่ายฤดูร้อนขึ้น เป้าหมายเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายกับเพศหญิงในวงการวิศวกรรมซอฟต์แวร์ โครงการเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว (60) เป็นโครงการระยะสั้น 2 สัปดาห์ วางเป้าหมายขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างขึ้นเพื่อให้โอกาสเด็กได้เรียน อีกทั้งเธอยังวางแผนจะสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย
5. Seema Bansal ผู้ร่วมก่อตั้ง Venus Et Fleur ผู้ทำให้ดอกกุหลาบจากสวนของเธอบานอยู่ได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ร่วงโรย และไม่ต้องรดน้ำ ด้วยสารละลายสูตรเฉพาะของเธอที่มีขี้ผึ้งเป็นส่วนผสมหลัก แต่ผิวสัมผัสของกุหลาบ รูปทรง และกลิ่นหอมอ่อนของกุหลาบยังคงอยู่ Basal และคู่หมั้นของเธอ Sunny Cgadha ผู้ร่วมก่อตั้ง Venus Et Fleur ปลูกดอกไม้ในฟาร์มที่เอกวาดอร์ ราคาขายสำหรับ 1 ดอกคือ 39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการจัดช่อนั้นคือราคาระหว่าง 300-1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งที่แตกต่างจากดอกไม้ทั่วไปอีกอย่างคือ การสกัดสีออกจากกุหลายจากนั้นย้อมด้วยสี Pantone ต่างๆ ให้มีสีที่ไม่เหมือนใครตามความต้องการลูกค้า
Venus Et Fleur ทำกำไรได้ดี และรายได้คาดว่าอยู่ที่ 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 226% ในปี 2559 โดยช่วงสิ้นปีที่แล้ว (60) ทั้งสองคนเปิดศูนย์กระจายสินค้าแห่งที่ 2 ในเมืองลอส แอนเจลิส ซึ่งดอกไม้อมตะของพวกเขาเป็นที่พูดถึงไปทั่วเมือง
สำหรับแนวโน้มคนยุคมิลเลเนียลในไทยนั้น จากข้อมูลของยูเอ็น บอกไว้ว่า ประเทศไทยมีประชากรกลุ่มมิลเลเนียลกว่า 20 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ยังจัดกลุ่มที่มีจำนวนประชากรรองลงมาได้แก่ GenX, Baby Boomer, และ GenZ และปัจจุบันคนยุคมิลเลเนียลโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวไปบ้างแล้ว มีชีวิตที่แตกต่างกันไป และยังมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ซึ่ง รศ.ดร.สมบัติ บอกว่า ไม่สามารถเหมารวมแนวโน้มของคนยุคมิลเลเนียลเฉพาะในไทย แต่ต้องให้มองแบบทั่วโลก เพราะคนรุ่นนี้อยู่ในสภาพที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้น คนรุ่นนี้ในไทยจะอยู่ในสภาพการเลี้ยงดูที่แตกต่าง ซึ่งการเลี้ยงดูที่แตกต่างนี้จะหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่คนละแบบกัน ขึ้นอยู่กับว่าเด็กที่เติบโตมาในการเลี้ยงดูแบบไหนกันที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ โดยสามารถจำแนกเด็กวัย 10-20 ปีในวันนี้ที่เติบโตจากสภาพบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันได้ 6 รูปแบบ มีตั้งแต่เด็กที่เกิดในบ้านที่มีฐานะ สามารถส่งเสียเลี้ยงดูให้มีการศึกษาที่ดีได้ ไปจนถึงเด็กที่เกิดและเติบโตในบ้านชนชั้นล่าง อาศัยสวัสดิการสังคมของรัฐ ที่เป็นเด็กกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย โดยอาศัยความเชื่อว่า บริบททางเศรษฐกิจสังคม คือตัวหล่อหลอมสำคัญของคนในแต่ละรุ่น แต่ละวัย ในแต่ละบริบทจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาของคนที่แตกต่างกันไป
คนยุคมิลเลเนียลคือคนที่เกิดในช่วง พ.ศ.2523 และช่วงปี พ.ศ. 2543 จะถูกเรียกว่า มิลเลเนียล หรือคำคุ้นอย่าง Gen Y เป็นกลุ่มที่มีช่วงอายุใกล้เคียงกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้อยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และด้วยจำนวนคนกลุ่มมิลเลเนียลทั่วโลกมีมากกว่า 20 ล้านคนจากผลการสำรวจขององค์การสหประชาชาติ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะคนกลุ่มนี้กำลังเติบโตและมีศักยภาพด้านใช้จ่าย ทำให้คาดว่าในอีกไม่ถึง 10 ปี มิลเลเนียล จะเข้ามามีบทบาทในทุกตำแหน่างงาน แทนที่คนทุกเจเนอเรชันก็ว่าได้
Photo by Nathan Dumlao on Unsplash