ไม่พบผลการค้นหา
การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่จัดชุมนุม ‘ยืดเยื้อ’ รายสัปดาห์ร่วมหลายเดือน ดูเหมือนจะไม่สามารถ ‘กระตุกหนวดเสือ’ คสช.อย่างที่ตั้งใจได้

ด้วยข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่

1.ให้เลือกตั้งเดือน พ.ย.61

2.เสนอให้ยุบ คสช. ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

และ 3.หัวหน้า คสช. เป็นเพียง ‘รัฐบาลรักษาการ’จัดเลือกตั้ง และ ให้กองทัพไม่สนับสนุนคสช.

ทั้ง 3 ข้อเสนอดูแล้วแทบ ‘ไม่มีโอกาสเป็นไปได้’ด้วยกลไกทางกฎหมายที่ล็อกเอาไว้ ทั้งการจัดการ ‘เลือกตั้ง’ที่ต้องเลื่อนออกไป 30 เดือน เป็นช่วง ก.พ. 2562 หลังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุให้บังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน

ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมาย คสช. ยอมรับว่าหาก สนช. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจทำให้โรดแมปขยับไปอีก 2 เดือน ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้ ‘จุดติด’ได้ง่ายที่สุดในเวลานี้ เพราะเป็นเรื่องของการ 'ยื้อเลือกตั้ง' ออกไปอีก

ส่วนข้อเสนอที่ให้ยุบ คสช. และให้เป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นเหล่านี้อีก หลังยึดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265ที่ให้ คสช. ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี ‘คณะรัฐมนตรีชุดใหม่’

แต่ข้อเสนอที่ถูกนำมาถกเถียงมากที่สุดในรอบสัปดาห์ คือ ‘กองทัพแยกจาก คสช.’ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ตอบโต้ว่าไม่มีแยกจากกัน เพราะ ผบ.เหล่าทัพ เป็น ‘สมาชิกคสช.’ ด้วย

แต่คำตอบสำคัญอยู่ที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. มองว่าเป็นเพียง ‘เงื่อนไข’ เคลื่อนมวลชนไปสถานที่ต่างๆเท่านั้น

แน่นอนว่าข้อเสนอให้ ‘แยกกองทัพออกจากคสช.’กลับถูกมองว่าดู ‘ลอยๆ’ ขึ้นมา ไม่มีน้ำหนักใดๆ จนมีการมองว่าแค่เพื่อ ‘กวนใจ’คสช.หรือไม่ ?

อีกทั้งการ ‘แยกกองทัพออกจาก คสช.’มีเป้าหมายปลายทางอย่างไร ก็ไม่มีการลงรายละเอียดในเรื่องนี้ จึงมีการมองว่าจะเป็นการ ‘เสี้ยม’ให้กองทัพคิดการใหญ่กับรัฐบาลหรือไม่ ?

โดยเฉพาะกระแสข่าว ‘รัฐประหารซ้อน-ปฏิวัติซ้ำ’ ที่มีมาโดยตลอด ถ้ากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ประกาศยึดมั่นใน ‘ระบอบประชาธิปไตย’กลับต้องการให้ ‘กองทัพ’ มายึดอำนาจ แม้เป็น ‘รัฐบาลทหาร’ ก็เท่ากับผิดหลักการทันที

“ปัจจุบัน ทุกอย่าง ดูเลื่อนลอย ข้อเรียกร้องก็เลื่อนลอย และไม่มีเงื่อนไขอะไร เพียงแต่ต้องการเคลื่อนขบวน” พล.อ.เฉลิมชัย ผบ.ทบ. กล่าว

ทำให้ นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ออกมาชี้แจงว่า ต้องการให้กองทัพทำหน้าที่ตนเองในการปกป้องไม่ใช่ปกครอง และหากกองทัพตระหนักว่าคนไม่กี่คนใช้สถาบันกองทัพในการแสวงหาผลประโยชน์ พึงหยุดการสนับสนุน เมื่อถึงเวลานั้น คสช. ก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะกองทัพนั้นเปรียบเหมือน ‘กองหนุน’ สุดท้ายของ คสช.

แม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นจะไม่ได้สร้างผลกระทบต่อ คสช.มากนัก แต่ก็ต้อง ‘ชิงไหวชิงพริบ’ ว่าฝ่ายใดจะปฏิบัติการการข่าว หรือ ไอโอ ได้ไวกว่ากัน


โดยหลังการชุมนุมไม่ถึง 1 วัน มีการเผยแพร่ภาพ แผ่นกระดาษพร้อมข้อความโจมตีการชุมนุม เช่น “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน แต่ฉันไม่ชอบคนอ้างธรรมศาสตร์ แล้วรับจ้างม็อบ”, จ่านิวแผนสูง นัดรวมม็อบธรรมศาสตร์ แต่ไปแจกเงินค่าชุมนุมที่กองทัพบก ม็อบจำใจต้องเดินร่วมขบวนไปรับเงิน เป็นต้น

ข้อความเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านเพจการเมืองต่างๆ ในเฟซบุ๊กและข้อความทางไลน์ โดยมีต้นทางมาจากเพจ “นักการเมืองเลวๆ ต้องไม่มีที่ยืนในสังคมไทย” ที่มียอดติดตามกว่า 1.9 หมื่นแอคเคาท์

ทั้งนี้ เนื้อหาในเพจมีการโจมตีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งและพรรคอนาคตใหม่ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล การโจมตีพรรคเพื่อไทย และการเชื่อมโยงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกับกลุ่มนปช. เป็นต้น

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงไปหา ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจากพรรคการเมือง แน่นอนว่าพรรคที่ถูกเพ่งเล็งทันที คือ พรรคที่มีจุดยืนหรือแนวความคิดตรงข้ามและต่อต้าน คสช.

พล.อ.ประยุทธ์ ระบุอีกว่า ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง เพราะเมื่อมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการประท้วง อาจเกิดการบานปลายและเป็นเหมือนเดิมอีก ยืนยันไม่ได้ขู่ แต่ทุกครั้งก็มักจะเริ่มจากจุดนี้

“ปัญหา คือ ความเดือดร้อนของประชาชน และจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เราก็ระมัดระวัง ฝ่ายความมั่นคงยืดหยุ่นในทุกเรื่อง”ผบ.ทบ. รับลูก นายกฯ

จึงเป็น ‘เงื่อนไข’ ขึ้นมา ในการชิงความได้เปรียบของฝ่ายความมั่นคง ในการ ‘ดิสเครดิต’ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

พร้อมกันนี้ พล.อ.เฉลิมชัย เปิดเผยว่า ห่วงผู้ที่ตามขบวนมาชุมนุม และที่ไม่ใช่แกนนำ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งศูนย์ปรองดอง ทบ. ดูแลผู้ต้องหาที่ต้องคดีทางการเมือง ที่ไม่ใช่แกนนำและถูกตัดสินจำคุกหลายปี ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน จนได้รับการพักโทษหลายรายแล้ว

“บุคคลเหล่านี้น่าเห็นใจ เพราะไม่ได้มีอุดมการณ์ เพียงแต่ต้องการช่วยเพื่อน หรือไปฟังการปลุกระดมแล้วมีอารมณ์ร่วม จึงเข้าไปสู่กระบวนการตรงนี้ ผมอยากฝากไว้ว่า เมื่อถึงเวลานั้นแล้วก็ไม่มีใครดูแลหรือมาช่วยเหลือ สุดท้ายครอบครัวก็แตกแยก” ผบ.ทบ. กล่าว

ถือเป็นกระบวนการ ‘ชิงไหวชิงพริบ’ ที่สามารถ ‘ดิสเครดิต’ กับได้ ‘โอกาส’ในการจัดการกลุ่มเคลื่อนไหวต้าน คสช.ไปพร้อมๆ กัน ในการใช้อำนาจทั้ง ‘พระเดช’ และ‘พระคุณ’ อย่างลงตัว

แรงกระเพื่อมนี้ ไม่เท่าการปรากฏกายของ ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ ร่วมงานเปิดตัวหนังสือของ ‘อิชิอิ ฮาจิเมะ’ อดีต รมว.กิจการภายในญี่ปุ่น โดยใช้พื้นที่ ‘สาธารณะ’ และเป็น ‘สากล’ เพื่อให้ภาพเป็นที่ ‘ยอมรับ-น่าเชื่อถือ’

ฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่า งานนี้แม้เป็นระดับ ‘นายกฯ-รัฐมนตรี’มาพบกัน แต่ก็เป็นเพียง ‘อดีตผู้นำ’ เท่านั้น ซึ่งอดีตผู้นำคนอื่นๆ ก็ไปออกงานลักษณะนี้เป็นประจำ จึงไม่ได้เป็นงาน ‘ทางการ’ อะไร หรือใหญ่โต และมีรายงานจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ออกมาด้วยว่า ทั้ง นายทักษิณ และ นายอิชิอิ ฮาจิเมะ เป็นเพื่อนสนิทกันมาก ไม่ไปงานนี้ไม่ได้ และเป็นงานที่สื่อไปทำข่าวพอดี

มาพร้อมกระแสข่าว ‘ผลโพล’ครั้งล่าสุด ของแต่ละฝ่ายทั้ง ‘เพื่อไทย’และ ‘คสช.’โดยตัวเลขกลับใกล้เคียงกัน คือ พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ได้เก้าอี้ 220-230 ที่นั่ง ทำให้ ‘ทักษิณ’เกิดความมั่นใจถึงขั้นประกาศชัดเลยว่า ‘เพื่อไทย’จะชนะเลือกตั้งกับสื่อต่างชาติอย่างอาซาฮี

“ผมไม่มีความกังวลเลย ผมเชื่อว่าผู้นำพรรคจะนำพรรคไปสู่ชัยชนะ” นายทักษิณ กล่าว

ฝ่ายความมั่นคงประเมินอีกว่า การปรากฏกายของทั้ง 2 คน มีเป้าประสงค์ต้องการ ‘ปลุกฐานเสียง’รวมพล ‘ลูกพรรค’ เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้น ‘แทงใจ’ หรือ ‘เย้ย’ คสช. ที่ไม่สามารถจับกุมได้

อีกทั้งที่ผ่านมาทั้งคู่เล่นบท ‘นิ่ง-เงียบ’มาตลอด และไม่เล่นบท ‘บู๊’ มากนัก

ผิดกับเหตุการณ์หลัง ‘รัฐประหาร 2549’ที่แต่ละฝ่ายทั้ง ‘คมช.’ และนายทักษิณกับกลุ่มคนสื้อแดงเล่นบทบู๊ แต่สุดท้าย‘พรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย’ ก็กลับมาชนะอีกครั้ง ทำให้รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ถูกมองว่า ‘เสียของ’ ทันที

การ ‘เป่าปี่ตีกลอง’ ของเครือข่าย‘เพื่อไทย’ ครั้งนี้ จึงต้องมองกันยาวๆ

อย่าเพิ่ง ‘สรุป’ เพราะนี่แค่เริ่ม !!

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog