นับตั้งแต่ปี 2555 เมื่อสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอส แอร์ไลน์) เปิดให้บริการหลายสายการบิน เพื่อเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น รวมถึงแพคเกจทัวร์ที่ราคาไม่แพงในสถานที่ยอดฮิตอย่างโตเกียว เกียวโต ภูเขาไฟฟูจิ หรือแม้กระทั่งฮอกไกโด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัญหาของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นจากการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว ที่ไม่สัมพันธ์กับพื้นที่และจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งไม่สามารถจัดการนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินนี้ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของญี่ปุ่นตามมา
สื่อญี่ปุ่นบางแห่งเรียกภาวะนี้ว่า "นี่คือมลภาวะทางการท่องเที่ยว หรือ คันโกะ โกไก (kankō kōgai)"
สิ่งที่น่ากลัวกว่า 'มลภาวะการท่องเที่ยว' คือ 'การไม่มีการท่องเที่ยวเลย'
ปัญหานักท่องเที่ยวที่ล้นเกินนี้ยังส่งผลถึงชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในเมืองท่องเที่ยวให้เผชิญหน้ากับปัญหาวิถีชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปจากเดิม
บทความในอาซาฮี ชิมบุนที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา 'มัสซารุ ทาคายามา' ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกียวโตและเป็นซีอีโอของบริษัทท่องเที่ยวท้องถิ่น กล่าวว่า ปัจจุบันในเมืองของเขากำลังประสบปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติล้นเมืองในแต่ละวัน และคนท้องถิ่นส่วนมากไม่ชอบ ทั้งๆ ที่การท่องเที่ยวเป็นการนำรายได้มายังท้องถิ่น
ตัวอย่างที่เห็นชัด เช่น การใช้รถบัสที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ประสบกับความแออัดยัดที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวในการใช้บริการขนส่งสาธาณะ
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการส่งเสียงดัง การรับประทานอาหารตามข้างถนนของนักท่องเที่ยวเนื่องจากร้านอาหารถูกจองเต็มไม่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยว
ทาคายามา ยังกล่าวว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เปิดขึ้นในเกียวโตนั้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่คนท้องถิ่นเท่าไหร่นัก
ขณะเดียวกัน 'ทาคาโอ อิคาโด' ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวกล่าวในบทความฉบับเดียวกันนี้ว่า สิ่งเดียวที่น่ากลัวกว่า 'มลภาวะการท่องเที่ยว' คือ 'การไม่มีการท่องเที่ยวเลย'
โดยเขาชี้ให้เห็นว่า หากสถานที่ท่องเที่ยวใดที่ไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว สถานที่เหล่านั้นจะหายไปจากความสนใจของนักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว และผลกระทบดังกล่าวนี้ควรมีการโปรโมทเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศไปเยือนในสถานที่เหล่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นยังคงตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ช้าเกินไป และสิ่งที่จำเป็น คือ การเข้าถึงการขนส่งสาธารณะที่ดี ที่พักอาศัยที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
ไม่นานมานี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมาตรการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวในขาออกนอกประเทศคนละ 1,000 เยน เพื่อใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น
อิคาโดกล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นอีกอย่างคือ การใช้ระบบธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิก รวมไปถึงการไม่ปรับตัวของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ดังนั้นรัฐบาลอาจจะต้องอุดหนุนการปรับปรุงด้านการบริการเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวกว่า 28 ล้านคน โดยกว่าครึ่งเป็นชาวจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตะวันตกมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 (ปี 2563) นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน
ที่มา Japantimes
ข่าวที่เกี่ยวข้อง