ด้านผู้ทำรายงานชี้เงื่อนไขน่าสนใจในการทำให้กลุ่มกองกำลังเลิกใช้กับระเบิด คือผลจากบรรยากาศการเจรจาสันติภาพ เช่น ในฟิลิปปินส์ ส่วนในภาคใต้ของไทยเคยมีกลุ่มใช้อาวุธใช้กับระเบิด แต่เลิกไปเอง คาดว่าเพราะ “คุมไม่ได้”
รายงานการจับตาและเฝ้าระวังการใช้กับระเบิดและระเบิดแบบคลัสเตอร์ของปี 2559 ที่จัดทำโดย International Campaign to Ban Landmines ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ สรุปว่า ในช่วงปีที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากกับระเบิดในเอเชียถึง 2,666 คน อย่างน้อย 971 เสียชีวิต ผู้ได้รับผลกระทบ 93% เป็นพลเรือน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 34% คน ไทยอยู่ในอันดับ 4 ในกลุ่ม 5 ประเทศที่มีผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดที่ประกอบด้วยอัฟกานิสถาน กัมพูชา อินเดีย และจีน อีกด้านมีกับระเบิดที่ได้รับการเก็บกู้และทำลายแล้วปีที่ผ่านมารวมกัน 2.2 ล้านลูก
ในกรณีของเมียนมา รายงานระบุว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวน 298 คน เยชัว โมสาร์-พวงสุวรรณ ผู้ประสานงานการจัดทำรายงานระบุว่า การรวบรวมข้อมูลในส่วนของเมียนมามีข้อจำกัดมากมาย ตัวเลขของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบน่าเชื่อว่าจะมีจำนวนถึง 3,391 คน หากนับตั้งแต่ปี 2542 แม้ว่าเมื่อเทียบกับที่อื่น กรณีของเมียนมาไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรงที่สุดหากดูจากตัวเลข แต่ในการรับมือกับปัญหานั้นยากมาก เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเพราะไม่อาจติดตามเฝ้าระวังได้ และเมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
ทหารของเมียนมาให้ข้อมูลว่า ยังคงใช้อาวุธนี้อยู่แต่เฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีทหารประจำการ แต่ก็มีข้อมูลว่ามีการใช้กับระเบิดบริเวณชายแดน ใกล้เมืองค็อกซ์บาซาร์ในบังคลาเทศ พบว่ามีการใช้กับระเบิดที่มีอานุภาพทำลายรถปิกอัพได้ แต่อีกด้านกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลก็ใช้เช่นกัน ส่วนการช่วยเหลือเหยื่อเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะรัฐบาลเปิดช่องทางให้กลุ่มที่จะเข้าไปทำงานด้านมนุษยธรรมมีเพียงสามกลุ่มและทำงานได้อย่างจำกัด พวกเขาสามารถสำรวจพื้นที่ที่อาจมีกับระเบิดได้ แต่ไม่สามารถแสดงเขตพื้นที่ได้
นอกเหนือจากเมียนมาแล้ว ในเอเชียยังมีอีก 6 ประเทศที่ยอมรับว่ายังเก็บกับระเบิดเอาไว้บ้างเพื่อใช้ในการฝึกอบรม ที่มากที่สุดคือบังกลาเทศ กว่า 12,000 ลูก ส่วนอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไทย มีรายละกว่าพัน ภูฏานและกัมพูชามีต่ำกว่าพัน ผู้จัดทำรายงานระบุว่า ขณะนี้ไม่มีข้อมูลว่ามีการค้าขายอาวุธนี้กันในระดับรัฐต่อรัฐ ทว่ารายงานระบุว่ามีบริษัทของอินเดียเสนอขายชิ้นส่วนกับระเบิดในใบโฆษณาสินค้าในงานแสดงสินค้าที่อาบูดาบีในปีนี้ และยังมีข้อมูลใหม่ด้วยว่า ที่อินเดียก็กำลังมีการผลิตกับระเบิดด้วย และในเอเชียนั้นยังมีถึง 8 ประเทศที่ยังมีศักยภาพในการผลิต คือ จีน อินเดีย เมียนมา เกาหลีเหนือ ปากีสถาน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นและเนปาลเลิกผลิตไปแล้ว ที่สำคัญหลายประเทศที่มีกับระเบิดในครอบครองไม่ได้เป็นสมาชิกอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เช่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ มองโกเลีย สิงคโปร์ ศรีลังกา เมียนมา ลาว
เยชัว โมสาร์ - พวงสุวรรณ เปิดเผยด้วยว่า ในกรณีของไทย จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาสามปีไม่พบว่ามีการใช้กับระเบิดในสามจังหวัดภาคใต้ แต่มีข้อมูลว่าในช่วงเวลาประมาณปี 2553-2554 ได้มีการใช้กับระเบิดที่ทำเองโดยกลุ่มติดอาวุธ แต่หลังจากนั้นก็เลิกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ “เท่าที่ผมได้ข้อมูลจากแหล่งข่าว เรื่องนี้กลุ่มติดอาวุธบอกว่าที่หยุดใช้เพราะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ข้อมูลนี้ไม่อาจยืนยันได้”
สุชีรา ชนเห็นชอบ ผู้จัดการโครงการนอร์วีเจียน พีเพิลส์ เอด ระบุว่าไทยได้ขอขยายเวลาในอันที่จะกำจัดกับระเบิดออกไปอีกห้าปีจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นปีหน้า ที่จริงแล้วพื้นที่ที่ยังสงสัยว่าอาจจะมีวัตถุระเบิดตกค้างเหลืออยู่ประมาณ 420-450 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่พื้นที่เหล่านี้กระจายออกไปตามชายแดน แต่กระนั้นก็ตาม ความหวังในอันที่จะเก็บกู้กับระเบิดให้หมดไปมีความเป็นไปได้สูง “เมื่อสามปีที่แล้วเราไม่เคยนึกฝันว่าจะกำจัดมันได้สำเร็จและเคยคิดว่ามันจะต้องเป็นงานหนักตลอดชีวิต แต่ตอนนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเราเชื่อว่ามันจะหมดไป”
เฟร็ด ลูบัง แห่งกลุ่มนอน-ไวโอเลนซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์แม้ว่ากลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในมินดาเนา ให้คำมั่นไม่ใช้กับระเบิดอีก แต่ยังมีหลักฐานว่ากลุ่มอื่นยังคงใช้ เขาชี้ว่า การที่รัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟเจรจาสันติภาพกันเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายยุติการใช้กับระเบิด เพราะความเคลื่อนไหวนี้กระตุ้นให้คู่ความขัดแย้งต้องลดการใช้อาวุธที่มีผลต่อชีวิตของพลเรือน กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟนั้นยุติการใช้อาวุธดังกล่าวก่อนที่จะลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลเสียอีก ลูบังให้ความเห็นว่า กรณีการทำข้อตกลงสันติภาพและการกำจัดอาวุธนี้ในฟิลิปปินส์อาจจะเป็นตัวอย่างให้กับบรรดาคู่ความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ ได้เรียนรู้เรื่องของการจัดการปัญหาการใช้กับระเบิด ดังเช่นที่ขณะนี้เมียนมาก็กำลังพยายามเรียนรู้ในเรื่องของกระบวนการสันติภาพจากกรณีมินดาเนา
สำหรับกลุ่มผู้จัดทำรายงานที่มาจากหลายองค์กรทั้งผู้เชี่ยวชาญของ International Campaign to Ban Landmines และจากกลุ่มองค์กรเอกชน เช่น Demining Group ของเดนมาร์ก กลุ่ม Handicap International กลุ่ม Human Rights Watch และกลุ่ม Mines Action Canada
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
บอสเนียเตือน อย่าเล่น''โปเกม่อน โก''ในเขตระเบิด