ทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ลงพื้นที่เยาวราชในช่วงเทศกาลกินเจวันที่สาม สอบถามผู้ค้าถึงบรรยากาศเทศกาลกินเจปีนี้ จากการพูดคุยและสังเกตการณ์นั้น ร้านค้าส่วนมากจะมีลูกค้าแวะเวียนเข้าไปซื้อของไม่ขาดสาย ร้านที่เป็นเจ้าเก่าเจ้าดังมีลูกค้ายืนรอต่อคิวยาวเป็นพิเศษ
เมื่อสอบถามกับร้านค้าพบว่า ปีนี้มีคนมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและขายได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยหลายร้านบอกว่าลูกค้าของตนมีผสมกันทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งชาวเอเชียและชาวตะวันตก
"ส่วนมากจะเป็นเอเชียมากกว่าที่จะมากินพวกข้าวแกง แต่ถ้าเป็นพวกฝรั่งหรือยุโรปส่วนมากเขาจะกินของกินเล่นกันมากกว่า" น.ส.ภัทรศยา มณีเสถียร กล่าว
บรรยากาศเทศกาลกินเจในย่านเยาวราชปีนี้ สอดคล้องกับผลการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่า สถานการณ์การจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพในเทศกาลกินเจปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 4,650 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนคนที่สนใจกินเจเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุด้วยว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ (9 - 17 ต.ค. 2561) กลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจจะกินเจ คือ กลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 25 ปี ขึ้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลสเป็นหลัก เหตุผลรองลงมาคือการกินเจเพื่อสุขภาพ ซึ่งอ้างอิงมาจากกระแสอาหารออร์แกนิกกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้
เมื่อสอบถามผู้ค้าอาหารในเยาวราชถึงเรื่องต้นทุนค่าวัตถุดิบต่างๆ ร้านค้าหลายแห่งระบุตรงกันว่าวัตถุดิบมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติเมื่อตลาดมีความต้องการวัตถุดิบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ร้านค้าส่วนมากเลือกที่จะแบกต้นทุนนี้ไว้แทนการปรับขึ้นราคาเพื่อไม่ให้กระทบยอดขายมากนัก ขณะที่ บางร้านแบกต้นทุนไม่ไหวและขอปรับราคาขึ้นเล็กน้อย
หากมองที่ต้นทุนค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้นและการปรับราคาสินค้าขึ้นในบางร้านนั้น จะพบว่ามีความสอดคล้องกับการคาดการณ์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดการณ์ไว้ว่าค่าใช้จ่ายการกินเจปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 315 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาทต่อคนต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การสำรวจตลาดอาหารเจครั้งนี้ของทีมวอยซ์ ออนไลน์ เป็นการลงพื้นที่เพียงย่านเยาวราช ซึ่งเป็นย่านที่มีชื่อเสียงในช่วงเทศกาลกินเจอยู่แล้วเท่านั้น และอาจไม่ครอบคลุมกับภาพรวมเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ในเทศกาลนี้ทั้งหมด