พอดีเพิ่งเห็นรายงานฉบับใหม่จากยูบีเอส ธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ โดยหัวข้อเบ้อเร่อเท่อเขียนไว้ว่า ‘Own your worth’ ดูแล้วก็สะดุ๊ดสะดุด สะดุดกับตัวเลข 56 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงแต่งงานแล้วยอมปล่อยให้เรื่องการลงทุน และการวางแผนทางการเงินระยะยาวเป็นการตัดสินใจของสามี ขณะเดียวกัน 85 เปอร์เซ็นต์ของฝ่ายหญิงที่มักยอมโอนอ่อนตามความคิดของสามียังเชื่อว่า คู่สมรสรอบรู้เรื่องการเงินเป็นสิ่งสำคัญ
อ่านผลสำรวจแล้วปวดเฮด นี่ปี 2018 แล้วจริงๆ หรอคะ ทำไมกลิ่นความคิดคนรุ่นเก่าเข้มจนต้องเช็กจมูก ทั้งที่ความจริงแล้วกลุ่มตัวอย่างเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ‘มิลเลนเนียล’ ซึ่งกำลังปฏิวัติโลกด้วยไลฟ์สไตล์ ทว่าพวกเธอกลับปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องเงินๆ ทองๆ ขึ้นอยู่กับอำนาจของสามี แถวยังสูงกว่ากลุ่มคนยุคอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ
โอ๊ย! อยากจะกรี๊ดดีดดิ้นออกมาแรงๆ รายงานมันผ่านการสำรวจข้อมูลมาจาก 1,700 คู่สมรสเชียวนะ ทั้งที่เป็นคู่สมรสเพศตรงข้าม ตลอดจนคู่สมรสเพศเดียวกันด้วย ตัวเลขดังกล่าวมันสะท้อนมุมมองกลับตาลปัตรที่แสดงให้เห็น ‘การควบคุม’ โดยปราศจากความเข้าอกเข้าใจ พลังเฟมินิสต์ลุกเป็นไฟยิ่งกว่าตอนแคตนิส เอฟเวอร์ดีน ปลุกกระแสต่อต้านแคปิตอล เพราะหากมองไปในรายละเอียดลึกๆ แล้วมันเป็นปัญหาน่ากังวลยิ่งกว่าปัญญาประดิษฐ์เหยียดเพศเสียอีก
เรื่องจริงไม่อิงนิยายก็คือ เพศหญิงส่วนใหญ่อายุขัยเฉลี่ยยืนยาวนานกว่าเพศชายถึง 5 ปี และอัตราการหย่าร้างของคู่สมรสอายุ 50 ปีขึ้นไปก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ยุค 90's ทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า 8 ใน 10 ของผู้หญิงต้องใช้ชีวิตบั้นปลายเพียงลำพัง และแบกรับความรับผิดชอบทางการเงินอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งพวกหล่อนๆ คงไม่ได้เตรียมตัวเผชิญหน้ากับการถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงยากมากนะจ๊ะ
อย่างไรก็ตาม เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของแม่ม่าย และคู่รักที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้ว ระบุว่า หากย้อนเวลากลับไปได้พวกเธอปรารถนาจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับการตัดสินใจวางแผนทางการเงินมากขึ้น และ 56 เปอร์เซ็นต์ต้องขนลุกหลังจากค้นพบปัญหาหนี้สินซ่อนอยู่ เงินฝากออมทรัพย์ไม่เพียงพอ หรือการลงทุนแบบเชิงรุกของคนรัก ซึ่งมันส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ และเป้าหมายการเกษียณอายุ
บรรดาแม่ม่ายแทบทุกคนที่ทำแบบสำรวจยังมอบคำแนะนำให้หญิงสาวอายุน้อยกว่าด้วยว่า จงเข้าไปพัวพันกับการวางแผนอนาคตทางการเงินระยะยาวให้มากขึ้นเดี๋ยวนี้!
มันเกิดเป็นคำถามงงใจตามมามากมายว่า เพราะเหตุใดผู้หญิงแต่งงานแล้วส่วนใหญ่ปล่อยปละละเลยเรื่องการเงิน คือมันไม่ใช่การสั่งห้ามผู้หญิงแตะต้องเงินหรอก แต่ความจริงแล้วฝ่ายหญิงเองที่จู่ๆ ก็เกิดความรู้สึกปลอดภัยไร้กังวล และกลับไปเข้าอกเข้าใจการจัดการการเงินรายวันของครัวเรือนเป็นอย่างดี แต่เมื่อเอ่ยประเด็นการวางแผนเกษียณ หรือการลงทุนระยะยาวขึ้นมา หลายคนกลับไม่แยแส เพราะเชื่อใจในคนรักของตนเองว่าสามารถจัดการได้ดีกว่า
ที่น่าประหลาดใจมากคือ แม้จะผ่านเวลาไปทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า ทว่าบทบาททางเพศยังเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก นานมาแล้วที่ผู้ชายมักเป็นผู้นำในทุกๆ ด้าน และเป็นใหญ่ในครอบครัวแบบไร้ข้อกังขา ผู้ชายจึงกลายเป็นฝ่ายบริหาร จัดการ และตัดสินใจทางการเงินระยะยาวแทนที่จะเป็นภรรยา
แถมในรายงานยังบอกด้วยว่า ผู้ชายค่อนข้างสร้างรายได้มากกว่าผู้หญิง ขยี้ประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างเพศเข้าไปอีก โดยปัจจุบัน 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว แต่ถ้ากลับกัน 43 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงหาเลี้ยงครอบครัวก็ปล่อยให้การตัดสินทางการเงินขึ้นกับสามีอยู่ดี
หรือการขาดความมั่นใจในตัวเองมันเป็นปัญหาใหญ่
รายงานพบว่า ในการแต่งงานกันของเพศตรงข้ามเชื่อมั่นว่า ผู้ชายเข้าใจการเงิน จัดการเรื่องการลงทุน และสามารถตัดสินใจการเงินระยะยาวได้ดีมากกว่า แต่ความเชื่อก็เป็นเพียงแต่ความเชื่อ มันยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความจริง
ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องรู้ว่า คุณไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการด้านการเงินการลงทุน หรือการวางแผนก่อนเกษียณอายุ แต่เธอต้องหัดให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเงินของตัวเอง และสามารถตอบคำถามตรงหน้าให้ได้ เช่น คนสำคัญที่สุดเป็นใคร และต้องการทำอะไรให้สำเร็จในชีวิต
มายาคติ ‘ความเป็นชาย’ ยังคงฝังรากลึกจนยากจะกำจัดให้หมดไปได้จริงๆ และการให้อำนาจผู้ชายควบคุมการเงินครอบครัวดูท่าจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพราะ 52 เปอร์เซ็นต์ของคนเป็นแม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 21 ปี กล่าวว่า พวกเขาโอเคกับอนาคตของลูกๆ หากคู่ชีวิตจัดการวางแผนทางการเงินระยะยาว ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า พวกเธอๆ ไม่เข้าใจค่าใช้จ่าย พวกเธอๆ ไม่เข้าใจความสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่อย่างเท่าเทียม ทั้งๆ ที่มีหนทางสร้างความเท่าเทียม เสรีภาพ และโอกาสทางการเงินเท่าเทียมกันอยู่มากมาย