ไม่พบผลการค้นหา
ยังจำได้ไหม? ดราก้อนบอล ซามูไรพเนจร สแลมดังค์ คนเก่งทะลุโลก จอมเกบลูส์ ยูกิ ไอส์ ฯลฯ คอลัมน์สำส่อนทางความบันเทิงวันนี้ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง พาเที่ยวนิทรรศการจัมป์ ณ เมืองโตเกียว!

เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะเห็นเพื่อนไปเที่ยวญี่ปุ่นแทบทุกเดือนทุกฤดูกาลแบบไม่มีเว้น ตัวผู้เขียนเองก็มักจะถูกถามไถ่อยู่เสมอว่า "ช่วงนี้ที่โตเกียวมีอะไรน่าสนใจบ้าง" (เพราะเมืองหลวงอย่างโตเกียวมักเป็นจุดหมายยอดฮิตอันดับหนึ่ง) งานที่ผู้เขียนแนะนำคนรู้จักไปก็คือ นิทรรศการครบรอบ 50 ปีนิตยสาร Shonen Jump ที่จัดขึ้น ณ Mori Arts Center Gallery ย่านรปปงงิ ซึ่งเสียงตอบรับก็มีทั้ง "โห อินสุดๆ" และ "เฉยๆ ว่ะแก" (อ้าว...)



DSC09661_resize.JPG


ต้องเท้าความก่อนว่า Shonen Jump (หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า Jump) คือนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่โด่งดังและมียอดขายสูงสุดของญี่ปุ่น เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1968 ดังนั้นปี 2018 จึงเป็นวาระครบรอบ 50 ปีพอดี

มีการจัดนิทรรศการที่แบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกัน นั่นคือการ์ตูนที่ลงในนิตยสารช่วงยุค 80, 90 และ 00 ซึ่งตัวงานที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปชมคือช่วงที่สองหรือยุคเก้าศูนย์

ทศวรรษ 90 นั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของ Jump เนื่องจากมีการ์ตูนดังๆ มากมายจนยอดพิมพ์พุ่งสูงถึง 6,530,000 เล่ม ส่วนในฝั่งคนอ่าน ก็คงถือว่าเป็นยุคทองของคนที่ตอนนี้อายุ 30 ปีขึ้นไป

มันเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของการอ่านการ์ตูนแบบไม่มีลิขสิทธิ์ไปสู่ยุคนิตยสารที่มีการซื้อลิขสิทธิ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวอย่าง BOOM และ C-KiDs จนเราได้อ่านการ์ตูนแบบต่อเนื่องและมีคุณภาพที่น่าพอใจ ที่สำคัญคือในยุค 90 อินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่ใช้อย่างแพร่หลาย (อาจเรียกว่าไม่เป็นที่รู้จักด้วยซ้ำ) ในยุคที่ยังไม่มีเฟซบุ๊คหรือยูทูบ การ์ตูนถือเป็นหนึ่งในสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสำคัญของวัยรุ่นยุคนั้น



DSC09665_resize.JPG

ถ้าว่ากันตามตรงแล้วนิทรรศการ Jump ก็ไม่ได้มีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจจนต้องร้องว้าวมากนัก ตัวงานเป็นเหมือนรวมฮิตการ์ตูนในยุค 90 ด้วยการจัดดิสเพลย์ให้สวยงาม เอาตัวการ์ตูนมาแปะตรงนั้นตรงนี้ มีภาพต้นฉบับมาให้ดู พร้อมข้อมูลนิดๆ หน่อยๆ ว่าเกี่ยวกับอะไร เริ่มเมื่อไร จบตอนไหน (มีภาษาอังกฤษ)

เช่นนั้นแล้วหัวใจสำคัญของนิทรรศการนี้คือคุณจะต้อง 'อิน' กับการ์ตูนเหล่านี้สักหน่อย หากไม่เคยอ่านการ์ตูนเหล่านี้มาก่อนเลยก็คงเดินงานด้วยความอุเบกขา (และเสียดายเงิน)

แต่แน่นอนสำหรับผู้เขียนที่เป็นวัยรุ่นยุค 90 (พิมพ์แล้วแอบสะเทือนใจ) การเดินนิทรรศการนี้ก่อให้เกิดความตื้นตันใจชนิดที่สรรหาคำมาบรรยายได้ยากนัก นอกจากจะได้ระลึกอดีตไปกับการ์ตูนที่เติบโตมาด้วยแล้ว

ส่วนที่ผู้เขียนชอบมากคือการเอาฉากจากการ์ตูนบางเรื่องมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเอฟเฟกต์วูบวาบให้ตื่นเต้นพองาม อย่างเรื่อง Slam Dunk ก็เป็นฉากที่พระเอกยิงลูกสุดท้ายลงห่วงจนพาทีมชนะในที่สุด สังเกตเลยว่าคนอื่นที่ยืนดูอยู่ด้วยกันออกอาการซาบซึ้งกับฉากนี้อย่างพร้อมเพรียง (และอุ่นใจว่าผู้เขียนไม่ได้เพ้อเจ้ออินไปอยู่คนเดียว)



https://d3ieicw58ybon5.cloudfront.net/ex/610.407/u/ba2b1bb9b133407bbe5e665a89ad224a.jpg.webp

ภาพจาก: Tokyo Otaku Mode News

อย่างไรก็ดี นิทรรศการนี้ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ถ้าพูดแบบภาษารายการ The Face คือการสังเกตว่าการ์ตูนเรื่องไหนที่ 'ได้ซีน' ในงานมากกว่าชาวบ้าน ต้องยอมรับว่าในช่วงยุค 90 ไม่ใช่การ์ตูนในนิตยสาร Jump จะประสบความสำเร็จทุกเรื่อง บางเรื่องก็ถูกตัดจบและถูกลืมอย่างรวดเร็ว เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดู การ์ตูน 3 เรื่องที่ได้พื้นที่เกินหน้าเกินตาเพื่อนๆ คือ Dragon Ball, Slam Dunk และ Yu Yu Hakusho (คนเก่งทะลุโลก)

หรือในส่วนของวิดีโอสัมภาษณ์นักเขียน ก็มีเพียง 3 คนเท่านั้น (แต่อาจจะเป็นเรื่องคิวว่างและนักเขียนบางคนอาจจะไม่อยากออกสื่อ) ซึ่งแต่ละคนก็มาเล่าเกร็ดที่น่าสนใจ มาซาโนริ โมริตะ (คนเขียน Rokudenashi Blues หรือจอมเกบลูส์) เล่าว่าเขาชอบมากที่เขียนการ์ตูนที่ตัวละครเป็นเด็กมัธยมจะได้ไม่ต้องปวดหัวเรื่องการออกแบบชุด, โยชิฮิโระ โทงาชิ (Yu Yu Hakusho) ออกมาแฉตัวเองถึงต้นฉบับที่มีจุดผิดพลาด ส่วน ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ (Slam Dunk) เล่าถึงการวางตำแหน่งตัวละครในหลายฉากที่มีนัยซ่อนเร้นจนดูแล้วได้แต่อ้าปากค้าง


DSC09658_resize.JPG

กระทั่งโซนสุดท้ายของนิทรรศการอย่างร้านขายของที่ระลึกก็ยังมีความไม่เท่าเทียมอย่างชัดเจน ตัวผู้เขียนนั้นตั้งใจจะซื้ออะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับกับเรื่อง Hareluya II Boy แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย แต่หากคุณเป็นแฟนคลับของ Dragon Ball, Slam Dunk หรือ JoJo's Bizarre Adventure นี่เตรียมตัวล้มละลายได้เพราะมีขายแทบทุกอย่างสากกะเบือยันเรือรบ จนท้ายสุดหลังจากเดินวนอยู่ห้ารอบ ผู้เขียนก็เลยซื้อแฟ้ม Slam Dunk ราคา 400 เยนที่แสนจะธรรมด๊าธรรมดามา เพราะจะกลับออกไปมือเปล่าก็ดูยังไงอยู่

ต้องสารภาพว่าหลังออกจากนิทรรศการ แทนที่จะรู้สึกปลื้มปิติ ผู้เขียนดันเกิดอาการซึมไปพักใหญ่ อาจด้วยความหวนไห้ถึงอดีตอันแสนหวานและช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตที่ผ่านเลยไปแล้ว และเมื่อมองไปยังปัจจุบันบรรยากาศของการอ่านการ์ตูนก็เปลี่ยนไป มีข่าวรายงานเสมอว่ากระทั่งคนญี่ปุ่นเองก็หันไปอ่านการ์ตูนแบบดิจิทัลกันมากขึ้น

นิตยสาร Jump เองแม้จะเป็นอันดับหนึ่งอยู่ แต่ยอดพิมพ์ก็ลดลง (ช่วงไตรมาสแรกของปี 2017 ยอดพิมพ์อยู่ที่ 1,915,000 เล่ม) หรืออย่างในบ้านเรานิตยสาร BOOM และ C-KiDs ก็ปิดตัวไปแล้วเรียบร้อย

แต่มันคงเป็นสัจธรรมของชีวิตที่ผู้เขียนพูดกับคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ ว่ายิ่งใช้ชีวิตไป สิ่งต่างๆ ที่เราเคยรู้จักก็ยิ่งสูญหายไปเรื่อยๆ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำความรู้จักและเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ เพื่อจะมีชีวิตต่อไปได้



DSC09666_resize.JPG

** นิทรรศการ 50 ปีนิตยสาร Shonen Jump ช่วงที่ 2 (ยุค 90) จะแสดงถึงวันที่ 17 มิ.ย. 2018 ส่วนช่วงที่ 3 (ยุค 00) จะจัดช่วง 17 ก.ค. - 30 ก.ย. 2018 ดูรายละเอียดที่ http://shonenjump-ten.com/english.html