เชียงราย จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทยเคยเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนติดอันดับชาติมาต่อเนื่องยาวนาน ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเมืองในหุบเขามีเทือกเขาสูงขวางกั้นการจราจรเดินทาง สภาพป่าเขาที่ทุรกันดาร มีชนเผ่าชาวเขาอยู่อาศัย ทั้งยังเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มนักรบชายแดนของลาวและพม่า รวมถึงกลุ่มค้ายาเสพติดและปลูกฝิ่นมาโดยตลอด
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มุ่งเน้นให้พัฒนาการเกษตรเมืองหนาว ให้การศึกษาชาวเขาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยมีจุดศูนย์กลางที่ศูนย์การพัฒนาตามโครงการจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง พระตำหนักดอยตุง ได้เปลี่ยนแปลงเมืองเชียงรายในระยะทศวรรษที่ 2530 ให้เป็นเมืองของดอกไม้และไม้ผลเมืองหนาว และเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจจากภูมิประเทศเทือกเขาและป่าไม้ที่งดงาม และภูมิอากาศเย็นสบายในฤดูหนาว
เมื่อลาว พม่า และจีน เริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอกในทศวรรษที่ 2540 เชียงรายกลายเป็นเมืองชายแดนที่คึกคักจากการค้าขายข้ามพรมแดน โดยมีด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และด่านเชียงของ-ห้วยทราย เป็นจุดค้าข้ามแดนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เปิดทำการ เชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินเข้ากับทางหลวงที่เชื่อมลงมาจากนครคุนหมิงของจีนตอนใต้ (คุน-หมั่ง กงลู่ 昆曼公路 ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพ) ทำให้กระแสการค้าระหว่างจีนตอนใต้กับประเทศไทยต้องผ่านจังหวัดเชียงรายเป็นหน้าด่านสำคัญ นอกจากนี้ ท่าเรือเชียงแสนยังเป็นจุดเริ่มต้นในการล่องเรือสินค้าไปยังท่าเรือกวนเหล่ยและท่าเรือจิ่งหง ซึ่งเป็นช่องทางติดต่อค้าขายทางน้ำบนลำน้ำโขงที่ใหญ่ที่สุดของจีนตอนใต้
การพัฒนาการค้าดังกล่าว ทำให้เชียงรายเติบโตขึ้นในทศวรรษที่ 2550 อย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 7.6 เท่า จาก 4,026 ล้านบาทในปี 2547 กลายเป็น 30,514 ล้านบาทในปี 2556 และไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น 12.7 เท่า จาก 2,273 ล้านบาท เป็น 28,535 ล้านบาท จังหวัดเชียงรายมีผลผลิตมวลรวมจังหวัด (GPP) ขยายตัว 2.3 เท่า จาก 39,317 ล้านบาท เป็น 81,263 ล้านบาท ตามลำดับ สร้างส่วนต่างของระบบเศรษฐกิจมวลรวมทำให้เกิดการสะสมมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างสรรค์เมือง
อย่างไรก็ตาม ลำพังการค้าชายแดนและระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้เชียงรายเติบโตอย่างยั่งยืนและงดงาม หากแต่เมื่อระบบเศรษฐกิจของเมืองมีส่วนเกินเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยง ก็ทำให้ศิลปินและศิลปะเฟื่องฟูและเกิดการสร้างสรรค์เมืองให้มีเอกลักษณ์ขึ้นได้
การสร้างสรรค์ที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะที่โดดเด่นที่สุดของเชียงรายในปัจจุบัน คือ วัดร่องขุ่น ผลงานของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และอาศัยรายได้จากการขายผลงานศิลปะของ อ.เฉลิมชัย เพื่อก่อสร้างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วัดร่องขุ่นเข้ามาอยู่ในแผนที่ของการท่องเที่ยวและเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเชียงรายต้องแวะชื่นชมผลงาน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาชมรู้จักกันในนาม White Temple หลังจากพระอุโบสถสีขาวที่จำลองไตรภูมินรกสวรรค์และพุทธภูมิสร้างสำเร็จในราว พ.ศ. 2551
ลักษณะศิลปะแบบ อ.เฉลิมชัย ยังแพร่หลายไปตามวัดอื่นๆ ในเมืองเชียงราย รวมถึงสถาปัตยกรรมในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นเสาไฟ ประติมากรรมประดับ หรือแม้แต่การตัดไม้ประดับตามสวนสาธารณะและเกาะกลางถนน เกิดเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองเชียงรายที่เมื่อเห็นแล้วก็ทราบได้ทันที ด้วยฝีมือของลูกศิษย์ อ.เฉลิมชัย รวมถึงเหล่าช่างที่ต้องการเลียนแบบเพื่อยกย่อง โดยการสนับสนุนทุนของทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน ซึ่งทุนนั้นสะสมมาจากการค้าและการผลิตภายในตัวจังหวัดที่ต่อเนื่อง
นอกจากวัดร่องขุ่นของ อ.เฉลิมชัย ยังมีงานศิลปะของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำเป็นคู่กัน ต่างชาติรู้จักในนาม Black House โดยนักท่องเที่ยวมักเรียกกันเป็นคู่ว่า “เหลิมสวรรค์ หวันนรก” (เฉลิมชัยเป็นสวรรค์ ถวัลย์เป็นนรก) จากนั้นวัดอื่นๆ ในเชียงรายก็ถูกนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งชื่อกันตามสี เป็น Blue Temple Gold Temple จนบางครั้งแม้กระทั่งชาวชียงรายเองก้ยังไม่รู้
กระแสนักท่องเที่ยวและงานศิลปะเหล่านี้ เมื่อประกอบกับค่าครองชีพที่ยังไม่สูงนัก ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดชุมชนศิลปิน งานศิลปะ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ในตัวเมืองขึ้นตามไปด้วย เมืองเชียงรายเปลี่ยนจากเมืองการค้าชายแดนเดิมที่ทึบทึมกลายเป็นมืองที่มีองค์ประกอบทางศิลปะเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
ประกอบกับเชียงรายได้เกิดอุตสาหกรรมการเกษตร 2 อย่างสำคัญ คือการปลูกชาในเขตดอยแม่สะลอง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือการพัฒนาจากไต้หวันตั้งแต่ยุคกองพลทหารจีนก๊กหมินตั๋งอพยพมาตั้งรกราก และไร่เกษตรขนาดใหญ่ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ทำให้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาเสริมกับวิถีชีวิตเชิงศิลปะที่งดงามได้อย่างลงตัว
จากเมืองเชียงรายจะเห็นได้ว่า การสร้างเมืองให้เป็นศิลปะ หรือสร้างวิถีชีวิตศิลปิน ไม่ใช่แค่การจ้างงานศิลปินให้มาสร้างสรรค์ผลงานตามสถานที่ต่างๆ แล้วจัดงานอีเวนท์เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่ต้องเกิดจากผลผลิตส่วนเกินและวิถีชีวิตโดยรวมของชาวเมืองที่มีทุนเหลือมากพอจะสนับสนุนงานศิลปะ อีกทั้งวิสัยทัศน์ของหน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐร่วมกันทั้งหมดทุกฝ่าย