ไม่พบผลการค้นหา
ศรีสุวรรณ จรรยา เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กฎหมายประชามติ กรณีบ้านพักตุลาการศาลเชิงดอยสุเทพ เพื่อถามความเห็นว่าจะให้ 'ทุบทิ้ง' หรือ 'คงสภาพ' ซึ่งผลประชามติจะสะท้อนความคิดเห็นของชาวเชียงใหม่อย่างแท้จริง

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้คนเชียงใหม่จัดลงประชามติกำหนดอนาคตบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ โดยอ้างดิงตามที่นายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลในลักษณะหมดหนทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับบ้านพักและที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ที่เชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่วานนี้ (30 เม.ย.) ว่า “กรณีปัญหาบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ แม้ยอมรับว่ากฎหมายไม่ผิด แต่ความรู้สึกของคนในพื้นที่ เป็นเรื่องของป่าในมุมมองของประชาชน แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ขอความกรุณาช่วยกันคิดด้วย”

ดังนั้น สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอร่วมช่วยคิดว่า เรื่องดังกล่าวแม้แต่เด็กประถม-มัธยมก็คิดหาทางออกได้ เนื่องจากเมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการใช้อำนาจรัฐโดยอ้างข้อกฎหมาย เรื่องดังกล่าวก็ควรจบด้วยมาตรการทางกฎหมายที่มีรองรับอยู่แล้ว และจะไม่มีใครต้องเสียหน้าด้วย นั่นคือ การเปิดโอกาสให้คนเชียงใหม่ทั้งจังหวัดใช้กฎหมาย 'ประชามติ' เพื่อ 'ทุบทิ้ง' หรือ 'คงสภาพ'

นายกรัฐมนตรีสามารถนำเรื่องดังกล่าวขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 244 (1) (2) (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ ความว่า:


“ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติ ในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้"


ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดำเนินการออกประกาศและจัดการออกเสียงประชามติดังกล่าวภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว 90-120 วัน โดยใช้กฎหมายเทียบเคียงกับ 'พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552'

ผลของประชามติที่ออกมาจะเป็นการสะท้อนความเห็นหรือความต้องการของคนเชียงใหม่ที่แท้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจในการ 'ทุบทิ้ง' หรือ 'คงสภาพ' ของบ้านพักและที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 เชียงใหม่ในพื้นที่เชิงดอยสุเทพได้ต่อไปหรือไม่ และจะถือว่ามติดังกล่าวจะเป็นข้อยุติทั้งทางกฎหมายและทางปกครอง เพื่อให้กรณีขัดแย้งดังกล่าวได้เป็นที่ยุติได้ดีที่สุดในขณะนี้

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีใช้หลักกฎหมายประชามติมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่ข้อยุติปัญหาความขัดแย้งบ้านพักศาลอุทธรณ์เชียงใหม่ อย่ามัวแต่ซื้อเวลา เกรงใจกันไปกันมา เพราะการไม่กล้าตัดสินใจย่อมนำมาซึ่งความเสื่อม และเป็นการลดความน่าเชื่อถือ และความไม่ไว้วางใจของประชาชนคนทั้งประเทศที่เฝ้ามองการตัดสินใจการแก้ปัญหานี้อยู่ด้วย


"ที่สำคัญอย่าเชื่อแต่ 'เนติบริกร' ที่อยู่รอบเอวที่ชอบเสนอใช้กฎหมายมา 'เชลียร์' มากกว่าการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเลย" แถลงการณ์ของสมาคมฯ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: