ในวัยเด็กฉันมีญาติคนหนึ่ง "เสพกัญชา" เขาเคยบอกว่าอย่าใช้คำว่า "เสพ" มันฟังดูเหมือนทำอะไรไม่ดีอยู่ ให้ใช้คำว่า "ดูดดื่ม" น่ารักกว่ากันเยอะ แถมสื่อความรู้สึกระหว่างการสูบกัญชาได้ดีที่สุดด้วย
ทำไมเขาถึงดื่มด่ำอะไรขนาดนั้น คำถามนี้คงตอบได้ง่ายๆ ว่าเพราะกัญชาออกฤทธิ์สร้างความเคลิบเคลิ้มหฤหรรษ์ให้กับสมอง การันตีมาตั้งแต่ยุคบรรพกาล ทุกอารยธรรมหลักของโลก ตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์ กรีก ไปจนถึงอารยธรรมอินเดีย ล้วนมีเรื่องเล่าของกัญชาเข้าไปมีส่วนในตำนานต่างๆ แถมกัญชายังอยู่ในสภาวะเหนือมนุษย์ บางอารยธรรมเป็นสัญลักษณ์ของเทพ บ้างเป็นพืชที่เทพพึงใจ บ้างใช้กัญชาเป็นตัวเชื่อมโยงสื่อสารกับเทพ แน่นอนว่า "กัญชา" คงต้องมีคุณค่าในทัศนะคนโบราณจนต้องยกสถานะเทพๆ แบบนี้ให้
สำหรับในประเทศไทย ถ้าฉันเอาเรื่องญาติไปเล่าให้ตำรวจฟังก็คงโดนรวบไปแล้ว แต่กว่าที่กัญชาจะเป็นยาเสพติดประเภท 5 ผิดกฎหมายเหมือนอย่างทุกวันนี้ มันมีการเดินทางที่ยาวนาน ผ่านบทบาทหลากหลาย ถือเป็นพืชที่มีประวัติศาสตร์โลดโผนที่สุดชนิดหนึ่ง
ว่ากันว่า คนใดได้ดูดดื่มกัญชา นอกจากนั่งยิ้มตาเยิ้มได้ทั้งวัน แค่เรื่องตลกฝืดๆ เช่น พัดลมส่ายหน้า ก็ยังขำท้องคัดท้องแข็งได้
ในวรรณคดีบ้านเราพูดถึงการหย่อนใจด้วยกัญชาอยู่เหมือนกัน เช่น "ระเด่นลันได" ของพระมหาเทพ (ทรัพย์) ก็พูดถึงขอทานลันไดที่เมากัญชาพับหลับไปหลังสีซอขอทานมาทั้งวัน หรือแม้แต่นางประแดะ อยู่บ้านสวยๆ ก็ "บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว" เพราะผัวหรือนายประดู่ต้องออกไปทำงานเลี้ยงวัว
แต่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่บันทึกถึงฤทธิ์ของกัญชาเอาไว้มากที่สุดคนหนึ่งก็คือ "สุนทรภู่" โดยใน "นิราศเมืองแกลง" มีการผูกกลอนออกชื่อกัญชาถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกพูดถึงอาการ "ครึ้มอกครึ้มใจ" ความว่า
"หยุดตะพานย่านกลางบางปลาสร้อย
พุ่มกับน้อยสรวลสันต์ต่างหรรษา
นายแสงหายคลายโทโสที่โกรธา
ชักกัญชานั่งกริ่มยิ้มละไม"
ครั้งที่สองคือตอนที่เมากัญชามากแล้ว เริ่มไม่ไหวจะเคลียร์
"ทำซมเซอะเคอคะมาปะขา
แต่โดยเมากัญชาจนตาขวาง
แกไขหูสู้นิ่งไปตามทาง
ถึงพื้นล่างแลลาดล้วนหาดทราย
ต่างโหยหิวนิ่วหน้าสองขาแข็ง
ในคอแห้งหอบรนกระกนกระหาย
กลืนกระเดือกเกลือกกลิ้นกินน้ำลาย
เจียนจะตายเสียด้วยร้อนอ่อนกำลัง
ในสมัยกรุงศรีฯ ราชทูตฝรั่งเศสลาลูแบร์ ได้บันทึกถึงอุปกรณ์สูบยาของแขกมัวร์ที่ชาวสยามนิยมใช้ เรียกว่า "มอระกู่" เป็นที่สันนิษฐานว่าอาจถูกใช้กับกัญชาอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น กัญชาก็ไม่ได้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินจำเริญใจอย่างเดียว เพราะยังพบหลักฐานการใช้เป็นยาในตำรับยาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือที่เรียกว่า "โอสถพระนารายณ์" นั่นเอง
ภาพ: มอระกู่ ในบันทึกลา ลูแบร์
ในตำราโอสถพระนารายณ์ พบว่ามีการใช้กัญชาในตำรับยา 2 ตำรับ คือ "ยาทิพเกศ" ใช้ใบกัญชา 16 ส่วน ผสมฝิ่น การบูร พิมเสน กระวาน ฯลฯ โดยระบุให้ "กินพอสมควร" แก้อาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ ตกเลือด ส่วนอีกตำรับคือ "ยาสุขไสยาสน์" ชื่อบอกตรงตัวว่าเป็นยาที่กินเพื่อให้นอนอย่างเป็นสุข สูตรนี้ใช้ใบกัญชา 12 ส่วน ผสมใบสะเดา การบูร สหัสคุณเทศ สมุนแว้ง เทียนดำ โกฐกระดูก ลูกจันทน์ ตำรวมกันเป็นผงละลายน้ำผึ้ง
นอกจากนี้ กัญชายังปรากฎในตำรายาสืบต่อๆ มาอีกหลายเล่ม เช่น ยาโทสันทะฆาฏ และยาธรณีสันทะฆาฏ แก้ลมกษัย จากตำรายาเกร็ด ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, ยาสุขไสยาสน์ ตำรับยาของหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) ขณะที่ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 มียาที่มีส่วนผสมของกัญชาถึง 11 ตำรับ ครอบคลุมตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงอาการปวดเมื่อย
อย่างที่เห็นข้างบนว่า บางตำราระบุชัดให้กินยาที่ผสมกัญชาแบบพอสมควร นั่นก็เป็นเพราะคนโบราณเขารู้ดีถึง "ข้อเสีย" ของการใช้กัญชามากเกินไป
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เอกสารวชิรญาณวิเศษ มีเรื่องแต่งที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับคนติดกัญชาในยุคนั้นเหมือนกัน โดยเล่าถึงมหาดเล็กวิเศษนายหนึ่ง ติดกัญชาจนเข้าวังก็ต้องมวนบุหรี่ยัดไส้ไปด้วย ในยุคนั้นมีคำแสลงเก๋ๆ เรียกบุหรี่สอดไส้แบบนี้ว่า "เหน็บกริช" แต่ถึงอย่างนั้นก็ "มีความอายมากปิดบังไม่ให้ใครรู้ว่าสูบกัญชาเลย เมื่อเวลาจะสูบบุหรี่ก็ไปเที่ยวส้อน (ซ่อน) สูบในที่ไกลคน เพราะกลัวเขาจะได้กลิ่น..."
นั่นแสดงว่าการติดกัญชาไม่ได้น่าภาคภูมิใจ และไม่ใช่เรื่องดีนัก สอดคล้องกับในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ "พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์" (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล ต่อมาเป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี) ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ "สมบัติของผู้ดี" ขึ้น (ต่อมาเรียกสมบัติผู้ดี) แยกย่อยเป็นหมวดกายจริยา วจีจริยา มโนจริยา โดยในหมวดกายจริยาข้อหนึ่งบอกว่าจะเป็นผู้ดี "ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม เช่น กัญชา ยาฝิ่น"
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กัญชาเสพติดได้จริงๆ และเสพเยอะๆ ก็สร้างความเสื่อมโทรมแก่ร่างกาย ลุเข้าสมัยรัชกาลที่ 6 วันชื่นคืนสุขระหว่างชาวสยามและกัญชาจึงจบลง โดยเริ่มแรกนั้น มีการกำหนด "พระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พระพุทธศักราช 2465" ออกใช้เป็นครั้งแรก เน้นหนักที่การป้องปราม "ฝิ่น" จากนั้นอีก 3 ปีให้หลัง "เจ้าพระยายมราช" เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบคำแนะนำของอธิบดีกรมสาธารณสุข ให้เพิ่มชนิดยาเสพติดให้โทษในบัญชี โดยระบุว่า "ยาที่ปรุงด้วยกันชา (กัญชา) ก็ดี ยาผสมฤาของปรุงใดๆ ที่มีกันชาก็ดี กับทั้งยางกันชาแท้ฤาที่ได้ปรุงปนกับวัตถุใดๆ เหล่านี้ ให้นับว่าเปนยาเสพย์ติดให้โทษทั้งสิ้น"
ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2468 กัญชาจึงเป็นของผิดกฎหมาย
จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 8 จึงมีการออก "พระราชบัญญัติกันชา พุทธศักราช 2477" ด้วยมีเหตุผลว่า "สมควรจะมีการควบคุมกันชา ซึ่งให้โทษร้ายแรงแก่ผู้สูบ" การเสพ ซื้อ ขายกัญชา หรือแม้แต่จำหน่าย "บ้อง" มีโทษจำคุกตั้งแต่ไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี ปรับตั้งแต่ 200-500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายก็ยังกรุณา บอกว่าใครปลูก หรือซื้อหามาครอบครองก่อนประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ หลวงท่านให้จัดการกัญชาให้หมดภายใน 1 ปี หลังจากนี้ใครมีในครอบครอง ติดคุกสถานเดียว
ภาพ: "กฎเสนาบดีเรื่องกันชา" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
จากที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นว่ากัญชาผิดกฎหมายมาได้ 93 ปีแล้ว แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าผลการศึกษามากมาย พบว่ากัญชาสามารถบำบัดอาการบางอย่าง หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม การปลดล็อคกัญชาจึงถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีหลังๆ การนำกัญชามาใช้ในแง่สุขภาพเป็นเรื่องที่น่าสนใจก็จริง แต่สิ่งสำคัญจากนี้ก็น่าจะเป็นการควบคุมให้ถูกใช้ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง นี่จึงจะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชา
เผื่ออยากอ่านต่อ
ประมวลตำรับยาไทย, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2554.
จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.
มหามนตรี (ทรัพย์), พระ, ระเด่นลันได-พระมะเหลเถไถ, กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2539.
"ปัญหาขัดข้องที่ 61" ใน วชิรญาณวิเศษ เล่ม 5 แผ่น 11 วัน อาทิตย์ที่ 29 เดือน ธันวาคม รัตนโกสินทรศก 108.
กฎเสนาบดีเรื่องกันชา, 21 กุมภาพันธ์ 2468, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 42, หน้าที่ 346.
พระราชบัญญัติกันชา พุทธศักราช 2477, 5 พฤษภาคม 2478, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 52 หน้าที่ 339.
พระราชบัญญัติยาเสพย์ติดให้โทษ พระพุทธศักราช 2465, 17 ธันวาคม 2465, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 39 หน้าที่ 428.