ปรากฎการณ์เพลง 'ประเทศกูมี' จากกลุ่มแร็ปเปอร์ ที่รวมตัวผ่านโปรเจ็คเฉพาะกิจ นาม 'Rap Against Dictatorship' หรือ RAD ถูกกล่าวถึงกระหึ่มโซเชียลด้วยยอดวิวผ่านยูทูบกว่า 23 ล้านวิว และไม่ว่าจะเป็นเหล่าคนดังหรือแม้แต่คนทั่วไปยังรู้จัก ด้วยเนื้อหาเพลงที่เสียดสีสังคมอย่างตรงไปตรงมา เป็นภาพสะท้อนความอึดอัดที่เกิดขึ้นมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดังคำให้สัมภาษณ์ของหนึ่งใน RAD ได้เผยสิ่งที่กลั่นกรองออกมาเป็นเนื้อหาถูกมองว่าสั่นคลอน 'ความมั่นคง' ที่ว่า "กระแสมันไม่ใช่แค่เรา ทุกคนมันโดนกดใน 4 ปีมานี้"
เมื่อกระแสที่ว่ามันถูกจุดติดทั้งจากผู้มีอำนาจและผู้ถูกปกครอง พื้นที่การถกเถียงจึงเกิดขึ้น ผ่านแนวคิดของแร็ปเปอร์ กลุ่ม RAD และ 5 นักวิชาการ ในวงเสวนา "ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน" ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ศิลปะ สังคม การเมือง เพื่อแสวงหาแนวทางเพื่อคลี่คลายปัญหาร่วมกัน
"เราเป็นแค่แร็ปเปอร์ เราไม่ได้สร้างความวุ่นวาย" ความในใจของ 'Hockhacker' หรือ เดชาธร บำรุงเมือง หนึ่งในแร็ปเปอร์จากกลุ่ม RAD เล่าถึงจุดยืนในการส่งเสียงสะท้อนผ่านบทเพลงที่ถูกร้อยเรียงออกมาอย่างแสบสันนี้
(Rap Against Dictatorship)
ก่อนเล่าต่อว่า เพลงประเทศกูมี เป็นการนำเสนอเรื่องราวในสังคม อย่างไรก็ตาม ก็รู้สึกตกใจกับกระแสความสนใจของคนในประเทศ โดยมองว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญกับสถานการณ์เมืองไทย เพราะก่อนปล่อยเพลงเรารอให้มันสุกงอม ซึ่งเป็นความบังเอิญที่น่าภูมิใจ
ส่วนมุมมองของนักวิชาการด้านการละคร ได้หล่นความเห็นว่า "การต่อต้านโดยใช้ศิลปะ โดยฟอร์มมันแล้ว มันคือการขัดขืนอยู่แล้ว" เป็นคำพูดของ "ภาสกร อินทุมาร" อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมองว่าการเล่าเรื่องด้วยเนื้อหาเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์ล้อมต้นมะขามนั้น มันได้ตั้งคำถามว่า "คุณเห็นความรุนแรงอยู่ต่อหน้าเราสนุกสนานได้ยังไง”
ซึ่งในปัจจุบันเรากำลังทนมองดูความรุนแรง ก่อนตั้งคำถามต่อว่า "คุณยังรื่นรมย์กับความรุนแรงได้ยังไง” ยิ่งสะท้อนได้ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความรุนแรงนั้น
หากมองย้อนกลับไปไม่เพียงบทเพลงประเทศกูมี ในภาคการละครก็เคยถูกกระทำมาแล้ว ดังเช่นละคร "บางละเมิด" ของกลุ่มบีฟอร์ ที่ทำงานในเชิงประเด็นสังคมและการเมือง ถูกละเมิดตั้งแต่การขอดูบท พอเริ่มแสดงก็มีทหารมาบันทึกภาพ ก่อนที่ภาสกร จะกล่าวติดตลกว่า "พักหลังจะเห็นว่าทหารเริ่มสนใจศิลปะ"
แน่นอนว่าไม่อาจข้ามผ่านบทบาทของการใช้กฎหมาย ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมายอย่าง 'สาวตรี สุขศรี' คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ระบุว่า "กฎหมายไม่ได้ห้ามพูดความจริง ถึงแม้จะเป็นเรื่องไม่ดีในประเทศไทย" ซึ่งเราต้องตั้งคำถามว่าทำไมผู้มีอำนาจในรัฐที่ "ไม่ใจกว้าง" ทำไมถึงปิดกั้นศิลปะ สาเหตุหนึ่งเพราะศิลปะมันสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ดังเช่นปรากฎการณ์เพลงประเทศกูมี ซึ่งตนเห็นว่าหน้าที่ของเพลงนี้ทำหน้าที่เหมือนเพลงเพื่อชีวิตในสมัยหนึ่ง ที่มีลักษณะกระตุ้นเตือนคนในสังคม อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการแต่งเพลงต่อต้านนโยบาย เสียดสีเรื่องสังคม ทำให้มีการแบน มีการสั่งห้าม เพราะรัฐบาลใจไม่กว้างพอ จึงรู้สึกได้ว่าพวกเขาถูกกระทบ
ส่วนการใช้ศิลปะก็ถูกใช้ทั้งสองฝั่ง และมีการใช้จากคนทั่วโลก ซึ่งการใช้ศิลปะมีความเบาละมุน มากกว่าการใช้อารยะขัดขืน ที่แม้ไม่ใช้กำลัง แต่อาจจะมีผลกระทบในระดับเดียวกัน
สำหรับปรากฎการณ์การถอยการใช้กฎหมายในการเอาผิดประเทศกูมีนั้น "ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน" แต่เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งมาจากยอดไลค์ สะท้อนให้เห็นว่า "พวกเขาไม่ได้ตาสว่าง แต่พวกเขาเพิ่งฉลาด เพราะยิ่งปิดปากคนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหูคนยิ่งอยากฟัง" สาวตรี กล่าว
แน่นอนว่าเมื่อมีการอ้างกฎหมายมาตรา 14 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์นั้น "สาวตรี" ได้ยกข้อกฎหมายให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยยกข้อกฎหมายและเนื้อเพลงมาประกอบจะเห็นว่าเนื้อร้องไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ ซึ่งหลายเรื่องเกิดขึ้นจริง แต่ก็มีบางเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียหาย การแต่งเพลงลักษณะนี้ จึงไม่ผิดในข้อเท็จจริง มันเป็นเพียงอรรถรส และเป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีใครสามารถรู้ความจริง
พร้อมยืนยันว่าเพลงประเทศกูมี ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าประโยคไหน คือการปลุกปั่น หรือการเล่าความเท็จ ซึ่งในแง่การใช้กฎหมายต้องมีข้อเท็จจริง
"ศิลปะทุกแขนงสามารถหยิบยื่นความน่าละอายของเผด็จการได้" ถนอม ชาภักดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงในแง่มุมของศิลปะ ว่า ประเด็นสำคัญคือถ้ามองในบ้านเราสำหรับขบถนั้นจะเห็นว่า "หมอลำ" เคยเป็นบทเพลงที่สะท้อนความเป็นขบถตั้งแต่รัชกาลที่ 3 หากย้อนกลับไปเราจะเห็นว่ามันมีการต่อต้านกันมาตลอด
ซึ่งเพลงหมอลำก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยในยุคสงครามเย็น เคยถูกใช้ทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เพื่อต่อสู้กันจากทั้งสองฝ่าย ชนิดที่ว่า "กลอนต่อกลอน" ในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างเผด็จการมีความแยบยลขึ้น ที่สามารถกล่อมเกลาประชาชน โดยการบั่นทอนผ่านการแทรกซึมด้วยกลไกของรัฐ
ส่วนประเทศกูมีนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศนี้มันมีการต่อต้านทุกพื้นที่ ศิลปะทุกแขนงสามารถหยิบยื่นความหน้าละอายของเผด็จการได้
"ความงดงามของทางดนตรี ไม่ได้ทำให้เสียเลือดเสียเนื้อ" สุชาติ แสงทอง มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ พูดถึงงานเพลงนี้ว่า พอเพลงปล่อยมาในฐานะเราเป็นนักดนตรีและศึกษาดนตรีการเมือง เพลงนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพลงการเมืองที่เชื่อมโยงสังคมไทย เพราะมันเกิดจากรากฐานทางความคิด ดังที่สะท้อนวัฒนธรรมทางการเมืองมาแต่ละยุค ซึ่งถูกมองว่าประชาชนไม่ได้ขัดขืน
ดังนั้นบทเพลงนี้จึงเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่มันเกิดขึ้นโดยใช้ศิลปะดนตรีสื่อสารออกมา ซึ่งแต่ละยุคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กลุ่มนี้มีการใช้วัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แม้ว่าผู้รับสารอาจจะไม่ทราบถึงนัย เราจึงเห็นพลังที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง ที่มีคนเห็นร่วมจากคนในสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :