ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก เผยผลการเปิดรับลงทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะครั้งที่ 3 ตั้งแต่ 2 ก.ค.–31 ส.ค.61 กว่า 10,000 ราย เขตจตุจักรยื่นคำขอมากที่สุด รองลงมาเขตห้วยขวาง

นายจงรักษ์ กิจสำราญกุล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินนโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะ ด้วยการเปิดรับลงทะเบียนการขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะครั้งที่ 3 สำหรับให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ยังไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายยื่นความประสงค์ขอเพิ่มจำนวนผู้ขับขี่ในวินเดิม หรือขอจัดตั้งวินใหม่ โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม 2561 ปรากฏว่ามีผู้สนใจประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร ยื่นความประสงค์ทั้งสิ้น 11,820 ราย เป็นการขอจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะในวินเดิม จำนวน 10,897 ราย

โดยเขตจตุจักรมีผู้มายื่นคำขอมากที่สุด จำนวน 604 ราย รองลงมา ได้แก่ เขตวัฒนา มีผู้มายื่นคำขอทั้งสิ้น 553 ราย และเขตห้วยขวาง ยื่นคำขอทั้งสิ้น 551 ราย ส่วนการยื่นคำขอจัดตั้งวินใหม่ มีผู้ประสงค์ยื่นคำขอให้จัดตั้งวินใหม่เพิ่มเติมอีก 97 วิน จำนวนผู้ขับขี่ 923 ราย โดยเขตบางกะปิ และดินแดง มีการยื่นขอจัดตั้งวินใหม่มากที่สุดจำนวนเขตละ 7 วิน รองลงมาเป็นเขตห้วยขวาง และเขตปทุมวัน ซึ่งมีการยื่นคำขอเพิ่มเขตละ 6 วิน 

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในการใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะได้อย่างสะดวกทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเพียงพอ หลังจากนี้คณะกรรมการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะจะเร่งดำเนินการตรวจสอบสิทธิและทยอยออกหนังสือรับรองการใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แล้วเสร็จทุกรายภายใน 31 ตุลาคม 2561 โดยผู้ยื่นคำขอที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิและได้การรับรองต้องดำเนินการจดทะเบียนเป็นป้ายเหลืองภายใน 120 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือรับรอง โดยต้องไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า นโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะสามารถเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยและคุณภาพบริการจากภาครัฐ ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ ใช้เสื้อวินที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน หากพบการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ จะมีความผิดฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท, กรณีแต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และการไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการและได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือประชาชนเลือกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการ แจ้งสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :