ไม่พบผลการค้นหา
กรมประมงจัดรับซื้อปลาหมอสีคางดำ 470 ตัน นำร่องที่จังหวัดสมุทรสงคราม - เพชรบุรี เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและระบบนิเวศ

วานนี้ (1 ส.ค. 2561) ที่บริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลคลองโคน อำเภอเมือง สมุทรสงคราม นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เพื่อการหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและระบบนิเวศตลอดจนสัตว์น้ำพื้นถิ่นเสียหายไป โดยมีนายเขมชาติ จิวประสาท ผู้ตรวจราชการกรมประมง, นางอลิสา อภิบุณโยภาส อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรสงคราม นางศศิวิมล เปาลิวัฒน์ ประมงจัหวัดสมุทรสงคราม และหัวหน้าส่วนราชการร่วมลงพื้นที่

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กรมประมงได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 11,400,000 บาท ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ โดยโครงการดังกล่าวจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี ที่ทุกวันนี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อที่จะให้ลดปริมาณและตัดวงจรชีวิตปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงของเกษตรกร  

โดยกรมประมงได้ลงประเมินความชุกชุมพบว่า ในพื้นที่ตำบลยี่สาร และตำบลแพรกหนามแดง เขตอำเภออัมพวา และตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 501 ฟาร์ม บนเนื้อที่ประมาณ 53,957 ไร่ พบว่ามีปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยง เฉลี่ย 1,629 ตัน ส่วนจังหวัดเพชรบุรี มี จำนวน 66 ฟาร์ม เนื้อที่ 4,000 ไร่ พบว่ามีปลาหมอสีคางดำในบ่อเฉลี่ย 156 ตัน ทั้ง 2 จังหวัด ได้รับผลกระทบ 567 ฟาร์ม เนื้อที่ 57,957 ไร่ พบปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยง 1,785 ตัน

ทั้งนี้ การรับซื้อปลาหมอสีคางดำในจังหวัดเป็นระยะ 2 เดือน เริ่มตั้งแต่ ก.ค. 2561 จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2561 เป็นวันสิ้นสุดการรับซื้อในราคา กิโลกรัม ละ 20 บาท จากนั้น ทางกรมประมงจะได้นำกากชาซึ่งมีสารชาโปนินที่เป็นพิษต่อเลือดสัตว์น้ำทุกชนิดมอบให้กับเกษตรกรนำไปใช้โรยภายในบ่อเมื่อทำการจับปลาหมอสีคางดำขึ้นหมดแล้ว เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือนั้นต้องเป็นฟาร์มที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับประมงจังหวัดแล้วเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง