วันที่ 2 ส.ค. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงข่าว ผลการหารือพรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล และอีก 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล
นพ.ชลน่าน เป็นตัวแทนอ่านคำแถลงข่าว มีเนื้อหาว่า เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้จับมือร่วมกับ พรรคการเมือง อีก 6 พรรค รวมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
วันที่ 13 ก.ค. 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้
ดังนั้นที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทย หาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิกวุฒิสภาได้
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี
ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ "นายเศรษฐา ทวีสิน " แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
1.เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ฯลฯ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันร่วมกับพรรคร่วมเพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ
พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อนมิตรทุกพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งพี่น้องประชาชนว่า นี่คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากนี้ไว้ได้ เพื่อให้ภารกิจนำพาประเทศพ้นวิกฤต สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดพันธนาการจากกลไกที่ไม่ปกติให้คืนสู่ความปกติ และใช้ประสบการณ์ และความสามารถของบุคลากรของพรรคเพื่อไทยเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดจากอำนาจประชาชน
ต่อมา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โหวตนายกฯ วันที่ 4 ส.ค.นี้ ได้พูดคุยกับพรรคก้าวไกลภายใต้ข้อตกลง ว่าเป็นเอกสิทธิ์ ของ สส. หรือมติของพรรคก้าวไกล ที่จะโหวตหรือไม่โหวต ซึ่งมั่นใจว่า 4 ส.ค.ได้เสียงเกิน 375 เสียง แน่นอน และมั่นใจว่าจบในวันเดียวได้นายกฯ คนที่ 30 สำหรับพรรคร่วมใหม่ จะแจ้งให้กับสื่อมวลชนทราบในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.นี้) ส่วนจะมีพรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ ขอให้ติดตาม
ส่วน สว.จะโหวตให้หรือไม่นั้น วันนี้ การแถลงของเราชัดเจน มั่นใจ ภายใต้เงื่อนไขที่แถลงไป จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ สว. เชื่อน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอ ที่สว.จะเห็นชอบได้
พร้อมกันนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงการประชุมกับพรรคก้าวไกลวันนี้ว่า การพูดคุย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เริ่ม ประชุม 09.30 ถึง 11.45 น. พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าต้องการความชัดเจน ไม่อยากให้ใช้คำว่า บอกเลิก เพราะไม่ใช่การบอกเลิก แต่มีความจำเป็นที่พรรคเพื่อไทย ตัองแยกมาจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหลังประชุมเสร็จสิ้น พรรคก้าวไกล ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงอะไร ส่วนจะยกมือโหวตหรือไม่ เราไม่ได้ร้องขอ เรารักษามารยาทโดยสมควร ย้ำมั่นใจว่าจะได้รับเสียงเกิน 375 เสียง หลังจากนั้น จะมาจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์แบบนี้มีข้อจำกัดในการรวบรวมเสียง ก็จะพยายามหาเสียงให้ได้มากที่สุด บนพื้นที่ของการทำงาน ที่เราเชื่อว่านโยบายที่นำเสนอ และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ร่วมตรวจสอบ เชื่อว่า เราแก้ปัญหาบ้านเมืองได้
เมื่อถามถึงเสียงของพรรคร่วมใหม่ของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำนั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า ขั้นตอนการเลือกนายกฯในรัฐสภา มั่นใจจะประสบผลสำเร็จน่าจะเกิน 375 เสียงสำหรับแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย จากนั้นจะมาจัดตั้งรัฐบาล ด้วยสถานการณ์นี้มีข้อจำกัดที่จะรวมเสียงให้มากพอ เพราะรัฐบาลที่เข้มแข็งต้องมี 300 เสียงขึ้นไป แต่ภายใต้ข้อจำกัดจะหาเสียงสนับสนุนให้มากที่สุด อีกทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านถ้าอยู่ในกติกาที่เราทำงานจริงจะทำให้เราแก้ปัญหาให้กับบ้านเมืองได้
ส่วนเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ ของเศรษฐา นั้น นพ.ชลน่านบอกว่า มีเขียนไว้เฉพาะตอนเลือก ประธานสภา และรองประธานสภา ส่วนเลือกนายกฯ ไม่มี และกรณีเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็น สส.จากการปรึกษาหารือ เศรษฐา พร้อมตอบทุกข้อสงสัย และไม่ขออนุญาตเข้าไปสภา แต่ สส.ของพรรค ก็พร้อมนำเสนอชี้แจงกับที่ประชุม
"แต่ไม่ใช่เป็นการบอกเลิก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เหตุผลที่แยกมาจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล" นพ.ชลน่านกล่าว
ขณะที่ ภูมิธรรม กล่าวว่าส่วนเสียงของพรรคร่วมใหม่นั้นจะเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรโดยสามารถบริหารประเทศได้และพรุ่งนี้ (3 ส.ค.)จะแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยจะบอกรายละเอียดอีกครั้ง โดยพรรคเพื่อไทยชี้แจงกับพรรคก้าวไกลถึงเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจช้า เพราะได้รับการร้องขอจากแกนนำพรรคก้าวไกลให้รอจนถึง 23.00 น.เมื่อวันที่31 ก.ค. ที่ผ่านมา เราได้คุยพรรคก้าวไกลต่อเนื่องแต่เป็นปัญหาการสื่อสารภายในที่สมาชิกพรรคต่อว่ากล่าวหาพรรคเพื่อไทย แต่เราไม่ถือสาอะไร โดยทั้งหมดไม่ได้เกิดจากพรรคเพื่อไทยทั้งหมด การประชุม 8 พรรคที่ช้าไป เพราะถูกแกนนำพรรคก้าวไกลร้องขอให้รอถึง 23.00 น. วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเริ่มต้นกระบวนการของเราตั้งแต่วันที่1 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้วันเดียวกันนี้ได้ข้อยุติและชี้แจงกับพรรคก้าวไกล โดยโทรติดต่ออีก 6 พรรคร่วม ว่าจะเลือกทางเดินการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะชี้แจงว่าเราจะไปเริ่มจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดย 8 พรรคร่วมเดิมได้รับรู้เรียบร้อยแล้ว
ภูมิธรรม ย้ำว่า การตกลงครั้งนี้ของพรรคพื่อไทยและพรคก้าวไกลไม่ใช่เกี้ยเซี๊ยะทางการเมือง ยืนยันการนำตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยจะไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย ส่วนโยบายต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนไม่ว่าจะเสนอโดยพรรคฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ถ้าเป็นประโยชน์พรรคเพื่อไทยยินดีจะให้การสนับสนุน เรายืนยันว่าไม่สนับสนุนกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยพรรคเพื่อไทยจะใช้ประสบการณ์ความสามารถแก้วิกฤตทางการรเมืองที่ต้องเริ่มดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จเพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบบปกติ
"เป้าหมายเราต้องได้นายกรัฐมนตรีก่อน ขณะนี้ตั้งนายกฯให้ได้ค่อยว่ากันในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะทุกคนรู้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะเป็นการแก้วิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง" ภูมิธรรม ระบุ
ด้าน ประเสริฐ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ประสานไปยังเลขาธิการพรรคทุกพรรคร่วมเดิม โดยแจ้งแต่ละพรรคร่วมเดิม 3 ประเด็น โดย 1.พรรคเพื่อไทยแจ้งเหตุผลจำเป็นจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล และชี้แจงการทำงานที่ผ่านมา
2.เป็นกรณีพรรคร่วมอื่นที่จะตัดสินใจอย่างไร ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้นขอให้เป็นดุลพินิจแต่ละพรรค ถ้าเห็นแนวทางพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมได้ พรรคก็ยินดีจะร่วมจัดตั้งรัฐบาล
และ 3.เรื่องการโหวตของพรรคก้าวไกลจะช่วยพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เราได้แจ้งพรรคร่วมเดิมว่าเป็นเอกสิทธิ์ของพรรคก้าวไกลที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยวันพรุ่งนี้ (3ส.ค.) เวลาช่วงบ่ายจะมีแถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ โดยสถานที่จะแจ้งให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบอีกครั้งหนึ่ง
"บางพรรคตอบมา และบางพรรคยังไม่มีท่าที ขอให้รอดูวันที่ 3 ส.ค.นี้" ประเสริฐ กล่าว
ทั้งนี้ ระหว่างแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทย มีเสียงโห่ขบวนขันหมาก ของม็อบ ดังเข้ามาในห้องแถลงข่าวเป็นระยะๆ