ที่เมืองเกียวโต ไซฮาน โมริ (Seihan Mori) เจ้าอาวาสวัดคิโยะมิซุ (Kiyomizu Temple) หรือวัดน้ำใส ใช้พู่กันเขียนตัวอักษรคันจิ 災 แปลว่า ‘ภัยพิบัติ’ ลงบนแผ่นกระดาษญี่ปุ่นสีขาวขนาดใหญ่ เพื่อประกาศผลการคัดเลือกตัวอักษรแห่งปี 2018
คันจิแห่งปี (Kanji of the year) คือการคัดเลือกตัวอักษรคันจิที่เหมาะสมในการบรรยายถึงสถานการณ์ช่วงปีที่ผ่านมา และจะประกาศเป็นประจำทุกปีในวันที่ 12 ธันวาคม ซึ่งในปี 2018 มีผู้คนเข้าร่วมการโหวตทั้งสิ้น 193,214 คน และมีคนโหวตคำว่า ‘ภัยพิบัติ’ เป็นจำนวน 20,858 คน
“ผู้คนมากมายต้องประสบกับภัยคุกคามของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ฝนที่ตกอย่างรุนแรง ไต้ฝุ่น หรือคลื่นความร้อน” มูลนิธิทดสอบความถนัดคันจิของญี่ปุ่น (Japan Kanji Aptitude Testing Foundation) กล่าวในเอกสารแถลงข่าว
ในปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนักหน่วง เริ่มจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งพลัดพรากผู้คนไปกว่า 200 ชีวิต ไปจนถึงพายุไต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายแก่สนามบินนานาชาติ และแผ่นดินไหวทางตอนเหนือที่ทำให้การขนส่งสินค้ามีปัญหา
รวมถึงในฤดูร้อนแดนปลาดิบยังประสบกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยในเมืองคูมางายะมีรายงานว่า มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 41.1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ทั้งประเทศมีผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน และถูกส่งเข้าโรงพยาบาลกว่า 80,000 คน
ทั้งนี้ ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่กล่าวมาทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศญี่ปุ่นตกลงมาระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงกันยายน หรือช่วงไตรมาส 3 ของปี
ที่ผ่านมา ในปี 2017 ประเทศญี่ปุ่นเลือกคำว่า ‘ทิศเหนือ’ เป็นตัวคันจิแห่งปีจากการยิงทดสอบขีปนาวุธหลายระลอกของประเทศเกาหลีเหนือ และหนึ่งปีก่อนหน้านั้นคำว่า ‘ทอง’ ได้รับคัดเลือกเป็นตัวคันจิแห่งปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองผลงานที่น่าทึ่งของนักกีฬาเลือดซามูไรในโอลิมปิกเกมส์ปี 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล