ตามมาด้วยการปลุกเร้ากระแสชาตินิยมให้ประชาชนของแต่ละฝ่ายเกลียดชัง ด่าทอ และเรียกร้องให้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งก้าวต่อฝ่ายตรงข้าม ถึงขั้นที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างจีนกับอินเดียซึ่งต่างเป็นมหาอำนาจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียนั้นยากที่จะเกิดสงครามหรือขาดสะบั้นลงไปง่ายๆ ต่างเป็นเป็นเพื่อนบ้านที่รักกันไม่ลงแต่ก็เกลียดกันไม่ได้ เพราะหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ จีนกับอินเดียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นทั้งมิตรและคู่แข่งมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล จีนและอินเดียซึ่งต่างเป็นอู่อารยธรรมสำคัญของโลก ได้มีการติดต่อ ผ่าน 'เส้นทางสายไหม' (Silk Road) ทั้งการติดต่อค้าขาย และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยผ่านศาสนาพุทธ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องแนวชายแดน เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีเทคโนโลยีเส้นแขตแดนหรือพิกัดภูมิศาสตร์ อีกทั้งแนวชายแดนเป็นเขตที่แร้นแค้นหนาวจัดไม่มีผู้คนอาศัย จีนกับอินเดียจึงเป็นเพื่อนบ้านกันแบบไม่มีปัญหา
จนเมื่อถึงยุคล่าอาณานิคมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียจึงเริ่มบาดหมางกัน เพราะอินเดียตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ อังกฤษครอบงำการค้าระหว่างอินเดียกับจีน และอังกฤษเริ่มทำการปักปันเขตแดนที่ต้องขีดเส้นเขตแดนให้ชัดเจนทุกพิกัด ทำให้เกิดปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันเหนือดินแดนตามแนวชายแดนจีนกับอินเดีย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 นับเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ยุคใหม่ของทั้งสองประเทศ และแรกๆ ก็เป็นไปอย่างชื่นมื่น จีนกับอินเดียผ่านการถูกกดขี่โดยมหาอำนาจมาเหมือนๆ กัน ทำให้เห็นอกเห็นใจกัน
ในปี 1950 อินเดียรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของจีน และสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนคอมมิวนิสต์โดยไม่ใยดีรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่เกาะไต้หวันซึ่งมหาอำนาจตะวันตกรับรองว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของจีนและเข้าข้างอยู่
อินเดียยอมรับการกระทำของจีนในสงครามเกาหลี ในกรณีไต้หวัน และในสงครามเวียดนาม ว่าเป็นการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของจีนและภูมิภาค มากกว่าที่จีนมีเจตนาในการขยายอำนาจ อินเดียยังได้เสนอให้องค์การสหประชาชาติลงมติรับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เข้าเป็นสมาชิกแทนไต้หวัน
จีนซึ้งใจมากและทำให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลไปเยือนอินเดียในปี 1955 และทั้งสองประเทศได้ทำความตกลงที่เป็นที่รู้จักกันในนาม 'หลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติห้าประการ' (The Five Principles of Peaceful Coexistence) หรือ 'หลักปัญจศีล' (Pancha Shila) ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียในช่วงเวลาดังกล่าวมีความใกล้ชิดรักใคร่กันมากจนเกิดเป็นคำขวัญที่ว่า “อินเดีย-จีน พี่น้องกัน” (Hindi-Chini Bhai-Bhai)
จนในปี 1958 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียขัดแย้ง เนื่องจาก ปัญหาทิเบตและปัญหาดินแดนที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นของจีนหรือว่าอินเดีย กรณีพิพาทกลายเป็นปัญหาเรื้อรั้ง โดยจีนไม่ยอมรับแนวเขตแดนที่อินเดียยึดถือ เพราะมองว่าเป็นเส้นที่เป็นมรดกจากเจ้าอาณานิคมคืออังกฤษเขียนขึ้นโดยบีบบังคับจีน
จนในปี 1962 ได้เกิดสงครามชายแดนระหว่างจีนกับอินเดีย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งประเทศตึงเครียด และปะทะกันอีกในปี 1967 และ 1975 แม้จะมีความพยายามปรับความสัมพันธ์ในสมัยรัฐบาลของนายโมราจิ เดไซ (Morarji Desai) และเริ่มมีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตกันอีก
แต่เมื่อนางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi ) กลับมาบริหารประเทศในปี 1980 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียก็กลับเข้าสู่สภาพหวาดระแวง จนปะทะกันอีกในปี 1987
ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็นยุติ โลกหันไปสนใจเศรษฐกิจการค้าแทนการแข่งขันเชิงอำนาจ จีนกับอินเดียก็ได้ทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์ โดยในปี 1991 นายกรัฐมนตรีหลี่เผิง เยือนอินเดีย ต่อมาในปี1993 นายกรัฐมนตรีนาราซิมฮา ราว เยือนจีน และได้ทำข้อตกลงว่าด้วยการรักษาสันติภาพและความสงบตลอดแนวพรมแดนที่ยึดครองตามความเป็นจริงระหว่างจีนและอินเดีย (The Agreement on the Maintenance of Peace and Tranquility along the line of Actual Control in the China-India Border Area)
และในปี 1996 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน เยือนอินเดีย โดยเป็นครั้งแรกที่ประมุขของจีนเยือนอินเดีย มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการสร้างความเชื่อมั่นทางทหารบนเส้นควบคุมที่แท้จริงระหว่างพรมแดนของจีนและอินเดีย (The Agreement on Confidence-Building Measures in the Military Field along the Line of Actual Control on the China and India Border) โดยมีใจความสำคัญว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือแก้ไขปัญหาพรมแดนกันโดยสันติและฉันมิตร จะไม่มีฝ่ายใดใช้กำลังหรือขู่ว่าจะใช้กำลังไม่ว่ากรณีใด จะเคารพและยึดถือแนวพรมแดนที่ยึดครองตามความเป็นจริงจนกว่าจะมีข้อตกลงขั้นสุดท้าย เมื่อมีความจำเป็นทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันตรวจสอบและกำหนดเขตของการยึดครองตามความเป็นจริง ข้อตกลงนี้ยังมีสาระส่งเสริมมาตรการการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันตลอดแนวพรมแดน และลดจำนวนทหารของแนวชายแดนด้วย
อย่างไรก็ดี ในปี 1998 พรรคภาระติยะชะนะตะ หรือ พรรคชาตินิยมฮินดูของ อตัล พิหารี เวชปายี ตั้งรัฐบาล ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มองจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ โดยอินเดียอ้างว่า จีนให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีพรมแดนติดกับอินเดีย เช่น เนปาล ศรีลังกา รวมทั้งพม่า ทำให้อินเดียเกิดความหวาดระแวงต่อจีน เพราะอินเดียมองว่าเอเชียใต้คือเขตอิทธิพลของตน
ในปีเดียวกันนี้ อินเดียได้ทดลองขีปนาวุธใต้ดินถึง 2 ครั้ง บริเวณทะเลทรายฮาร์ และนายกรัฐมนตรีอินเดียยังได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งให้กับประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาถูกตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทม์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม 1998 ในชื่อว่า “Indian’s Letter to Clinton on the Nuclear Testing” แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่า การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องปรามการคุกคามของจีน อินเดียเรียกจีนว่าเป็น “ศัตรูและคู่แข่ง” ส่งผลให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมาก
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2000 จีนกับอินเดียต่างตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง จีนกับอินเดียจึงเร่งปรับความสัมพันธ์กันอีกรอบ
โดยในปี 2002 นายกรัฐมนตรีจูหรงจี ของจีนเยือนอินเดียเพื่อหารือประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ในปี 2003 นายกรัฐมนตรีเวชปายี ของอินเดียเดินทางเยือนจีน มีการลงนามให้ปฏิญญาว่าด้วยหลักเพื่อความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ครอบคลุมหลายด้าน (Declaration on Principles for Relations and Comprehensive Cooperation)
ในปี 2005 นายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่า ของจีนเยือนอินเดียพบปะกับนายกรัฐมนตรี มาน โมฮาน ซิงค์ มีการลงนามในแถลงการร่วมว่าด้วยการสถาปนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความมั่งคั่ง (Joint Statement establishing a Strategic and Cooperative Partnership for Peace and Prosperity) และแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษเพื่อแก้ปัญหาเขตแดน (the Special Representatives on the boundary question)
ในปี 2006 ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา (Hu Jintao) เยือนอินเดีย ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยยุทธศาสตร์สิบประการ (Joint Declaration containing a ten-pronged strategy) ในการบรรลุเป้าหมายของการสถาปนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความมั่งคั่ง ริเริ่มให้มีการประชุมระหว่างผู้นำกองทัพจีนกับอินเดียทุกปี และให้มีการซ้อมรบร่วมกันทุกปี
ในปี 2008 นายกรัฐมนตรี มานโมฮาน ซิงก์ เยือนจีน และลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วย “วิสัยทัศน์ร่วมในศตวรรษที่ 21 ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดีย” (A Shared Vision for the 21st Century of the Republic of India and the People's Republic of China) เป็นการกำหนดบทบาทและจุดยืนของสองประเทศในความสัมพันธ์ทวิภาคีและในการเมืองโลก รวมทั้งเศรษฐกิจโลก
ในปี 2010 ประธานาธิบดีประติภา ปาติล เยือนจีน เดือนพฤษภาคม ต่อมาเดือนธันวาคม นายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่า เยือนอินเดีย ลงนามในความตกลงร่วมว่าด้วยการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม 6 ฉบับ รวมทั้งการประกาศให้ ปี 2011 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างอินเดียกับจีน (Year of India-China exchange)
ในทศวรรษที่ 2010 ทั้งจีนและอินเดียมีการเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศสูงมาก จนจำเป็นต้องหาตลาด เพื่อระบายสินค้า เพื่อลงทุน และเพื่อประคับประคองให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้ ในภาวะที่ตลาดรับสำคัญอย่างสหรัฐฯและยุโรปประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และจีนมีปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ อย่างยืดเยื้อ
ดังนั้น จีนกับอินเดียจึงยิ่งกระชับความสัมพันธ์กัน แม้ว่ายังมีข้อพิพาทที่ยังแก้ไขไม่ได้คือเรื่องเส้นเขตแดนและการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ทับซ้อนกันเหนือดินแดนตามแนวชายแดน
โดยในปี 2013 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง เยือนอินเดีย ลงนามในความตกลงระดับทวิภาคี 6 ฉบับ ในจำนวนนี้ มีความร่วมมือเรื่องชายแดนและเรื่องทิเบตด้วย และแม้ว่าในปี 2017 อินเดียได้แสดงความไม่พอใจและประท้วงโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเป็นผู้ดำริเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับนานาประเทศโดยมีจีนเป็นแกนนำ เพราะอินเดียไม่พอใจที่จีนมีแผนสร้างเส้นทางคมนาคมผ่านดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานยึดครองทั้งๆ ที่ดินแดนนั้นยังอยู่ภายใต้ข้อพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
จีนตระหนักดีว่าเส้นทางเชื่อมจีนกับปากีสถานจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยราบรื่นหากอินเดียลงมือขัดขวาง จีนจึงแก้ไขโดยผนวกอินเดียเข้าสู่ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สร้างการค้าทางทะเลเชื่อมจีนกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ปัจจุบันจีนกับอินเดียต่างพึ่งพากันทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอัตราที่สูงมาก จนกล่าวได้ว่าจีนกับอินเดียจึงเป็นเพื่อนบ้านที่รักกันไม่ลง แต่ก็เกลียดกันไม่ได้ และทั้งสองฝ่ายจะไม่ปล่อยให้ข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างกันบานปลายจนกระทบความสัมพันธ์ด้านอื่น และจะไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อกันอย่างที่นักวิเคราะห์หลายสำนักหวั่นเกรง เพราะจะบอบช้ำอย่างหนักทั้งสองฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: