ไม่พบผลการค้นหา
'รัสเซีย' หวังกลับมากลับคืนอำนาจการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้าน 'จีน' เปิดทางให้ แต่หันไปเพิ่มความเข้มแข็งในเอเชียใต้

นิตยสาร นิเคอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของรัสเซียออกมาเปิดเผยว่า ประเทศมีความพยายามในการกลับมาครอบอำนาจทางการทหารของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากการซ้อมรบร่วมกันเป็นครั้งแรกของรัสเซียและลาวในวันอังคาร (2 ธ.ค.) ที่ผ่านมา โดยการซ้อมรบ ‘ลารอส 2019’ (Laros 2019) ณ ศูนย์ฝึก บาน เพ็ง (Ban Peng) ในประเทศลาว มีทหารมากกว่า 500 นายจากทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมฝึก ทั้งยังมีรถถังจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน

‘อเล็กวีย์ มาสลอฟ’ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติด้านเศรษฐศาสตร์ของรัสเซีย กล่าวว่า แม้กองทหารที่มาร่วมซ้อมรบในครั้งนี้จากรัสเซียจะไม่ได้มีจำนวนมาก แต่ก็นับเป็นความพยายามครั้งแรกของรัฐบาลในการเข้ามาสร้างตัวตนทางการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมองว่าลาวเป็นประเทศแรกที่รัสเซียตั้งเป้าในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางการทหารในเอเชีย

ด้านรัฐบาลรัสเซียออกมาอธิบายว่า การฝึกซ้อมครั้งนี้เป็นเสมือนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลาวและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงความร่วมมือทางการทหารที่มีได้กับรัสเซีย ทั้งยังเสริมว่า นอกจากการซ้อมรบแล้ว รัสเซียยังจะเริ่มขายอาวุธให้กับลาวและส่งเสริมให้การฝึกทหารกับสถาบันกองทัพของรัสเซียด้วย

ขณะที่ ‘ทองลุน สีสุลิด’ นายกรัฐมนตรีของลาวเอง ก็ดูจะตอกย้ำความสัมพันธ์ด้านการทหารที่เข้มแข็งของทั้ง 2 ประเทศ โดยเมื่อปี 2561 ‘ทองลุน’ เคยออกมากล่าวว่า “เราสามารถพูดได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในกองทัพของลางมีความเชื่อมโยงกับรัสเซียทั้งสิ้น”

อีกทั้งในช่วงธันวาคมของปีเดียวกัน รัสเซียยังได้ส่งมอบทั้ง รถถัง T-72B รถลาดตระเวณติดอาวุธสะเทินน้ำสะเทินบก BRDM-2M และ เครื่องบินรบ 2 ที่นั่ง YAK 130 ให้กับลาวตามข้อตกลงที่เซ็นร่วมกันไปในช่วงต้นปี 2561

นอกจากนี้ ในเดือน พฤษภาคม 2561 ‘วาเลรี เกอราซิมอฟ’ หัวหน้าเสนาธิการกองทัพรัสเซีย ยังจัดการประชุมกับลาวเพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการทหารไปยังประเด็นเรื่องความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ

‘ดมิทรี มอสยาคอฟ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันศึกษาตะวันออกของรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียไม่ได้คิดที่จักขบวนทหารรอบนี้กลับมาแค่ลาวเท่านั้น แต่เป้าหมายคือทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความร่วมมือด้านการทหารจะเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์นี้เนื่องจาก นี่เป็นขอบเขตที่รัสเซียเหนือกว่าทั้งสหรัฐฯและจีน

ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มพบว่า ในระหว่างปี 2553 – 2560 รัสเซียเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นมูลค่า 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.99 แสนล้านบาท ขณะที่สหรัฐฯ และจีน ตามลงมาในลำดับที่ 2 และ 3 ด้วยมูลค่า 4,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.38 แสนล้านบาท และ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 54,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ลึกลงไปกว่าขายอาวุธ รัสเซียต้องการอะไร

‘วลาดิเมีย มาซีริน’ หัวหน้าศูนย์ศึกษาเวียดนามและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ที่ลึกลงไปกว่าการเปิดตลาดอาวุธใหม่ๆของรัสเซีย คือการสร้างความมั่งคงให้กับภูมิภาค ซึ่งสำหรับรัสเซียคือการป้องกันการเข้ามาเป็นใหญ่ของทั้งสหรัฐฯและจีน และแม้ว่า รัสเซีย ยังต้องเดินต่อไปอีกไกลเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แต่อย่างน้อยการมีอยู่ของกองกำลังทหารก็ได้สร้างแต้มต่อทางการเมืองให้กับรัสเซียแล้ว

ขณะที่ ‘มอสยาคอฟ’ ชี้ว่า แต้มต่อเหล่านี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากการโหวตครั้งล่าสุดที่สหประชาชาติของลาวและกัมพูชาในกรณีของ ไครเมีย ที่เข้าข้างรัสเซียมากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากความเชื่อมั่นและความร่วมมือกันระหว่างรัสเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาบอกว่า ความสัมพันธ์ของรัสเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้จะไม่สร้างปัญหาให้กับความสัมพันธ์ของรัสเซียและจีนอย่างที่หลายคนเป็นกังวลเพราะความสัมพันธ์ของจีนและรัสเซียนั้นสำคัญเกินกว่าจะมาทะเลาะกันในประเด็นจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ถ้าเรารู้สึกว่าเพิ่มกำลังทหารแล้วจะมีปัญหากับจีน เราคงไม่ทำในระดับใหญ่หรือเปิดเผยขนาดนี้” มาซีริน กล่าว

นอกจากนี้ มาซีริน ยังชี้ว่า แท้จริงแล้วจีนอาจจะชอบที่รัสเซียเข้ามามีบทบาททางการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยซ้ำ เพราะถือเป็นการกันสหรัฐฯไม่ให้มีอำนาจในภูมิภาคนี้มากเกินไป

นอกจากนี้ สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ยังรายงานว่าตอนนี้รัฐบาลของสี จิ้นผิง กำลังหันไปสนใจและจับประเทศในกลุ่มเอเชียกลางด้วยการค้าเรดาร์ต่อต้านเครื่องบินล่องหน (anti-stealth radar) กับปากีสถาน และการขายเรือรบให้กับบังคลาเทศ และศรีลังกาแทน โดยปล่อยให้รัสเซียทำหน้าที่คานอำนาจทางการทหารกับสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป

อ้างอิง; Nikkei Asian Review, SCMP