ไม่พบผลการค้นหา
โควิด-19 ทำให้กระแสเกลียดชังจีนและชาวจีนปะทุขึ้นในหลายประเทศ 'วอยซ์ออนไลน์' พาไปคุยกับ อ.ชนม์ธิดา อุ้ยกูล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หยิบยกอินโดนีเซียขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้เห็นประวัติศาสตร์การเกลียดชังจีนและชาวจีน ที่นำมาสู่ความตึงเครียดในยุคโควิด-19

โควิด-19 เป็นชนวนเหตุที่ทำให้กระแสความเกลียดชังจีนและชาวจีนปะทุขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย แต่ความเกลียดชังจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เพิ่งเกิดในช่วงไม่กี่มีมานี้ แต่ย้อนกลับไปตั้งแต่ที่หลายประเทศประกาศเอกราชและสร้างชาติขึ้นมาใหม่

ที่ผ่านมา จีนมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระจัดกระจายกันไปตามชุมชนจีนในแต่ละประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็มีทั้งช่วงที่ดีและไม่ดี  และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ส่งผลกระทบต่อชาวจีนในภูมิภาคด้วย

อ.ชนม์ธิดา อุ้ยกูล อาจารย์ประจำโครงการวิเทศคดีศึกษา (อาเซียน-จีน) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล่าว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของคนจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นได้ชัดจากช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2488 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศประกาศเอกราชและต้องการสร้างชาติให้เข้มแข็ง

ในช่วงสงครามเย็น จีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นสมรภูมิสงครามตัวแทนช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เข้ามาพัวพันกับความเกลียดชังจีนคอมมิวนิสต์จีนที่แผ่ไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อ มีส่วนร่วมในสงครามอินโดจีน โดยกรณีที่เห็นชัดเจนคือ อินโดนีเซีย

 

ภัยคอมมิวนิสต์

อินโดนีเซีย โดยเฉพาะในยุคการปกครองของซูฮาร์โต ผู้นำเผด็จการของอินโดนีเซีย โดยซูฮาร์โตขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในอินโดนีเซียในปี 2509 เขาได้ปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงในช่วง 2509-2510 ทำให้มีคนอย่างน้อย 500,000 คน หรืออาจมากถึง 1 ล้านคนถูกประหาร อีกหลายแสนคนถูกจับกุมและบังคับให้ใช้แรงงานในค่ายกักกัน จากนั้นก็ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2511

แม้ซูฮาร์โตจะระบุว่าเป็นการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่ชาวจีนในอินโดนีเซีย ซึ่งถูกเหมารวมว่ามีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนแผ่นดินใหญ่และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย (PKI) หรือถูกมองว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มฝ่ายซ้าย ซึ่งถูกมองว่าเป็นแนวร่วมของคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ชาวจีนในอินโดนีเซียต้องอพยพออกอินโดนีเซีย และชาวจีนจำนวนมากก็ตกเป็นเป้าของความรุนแรง มีการบุกรุกกงสุลจีนในเมดาห์ สร้างความตึงเครียดให้กับชุมชนชาวจีนในอินโดนีเซียจำนวนมาก

แม้เป้าหมายหลักของความรุนแรงคือสมาชิกของคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่การต่อต้านและกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนก็เป็นส่วนหนึ่งของปราบปรามคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐบาลซูฮาร์โตมองว่าชาวจีนเป็นภัยต่อความมั่นคงในประเทศ และวิธีการแก้ไขปัญหาความมั่นคงนี้ก็คือ การส่งเสริมนโยบายบังคับกลมกลืนชาติพันธุ์ เช่น ห้ามแสดงออกทางสัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์ความเป็นจีนในพื้นที่สาธารณะ ปิดโรงเรียนจีน สื่อจีน สมาคมจีน 

รัฐบาลอินโดนีเซียกีดกันสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่ยอมรับลัทธิขงจื๊อ โดยบอกว่าเป็นความเชื่อที่คุกคามความมั่นคงของอินโดนีเซีย ชาวจีนจึงถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาเป็นศาสนาอื่นๆ ที่ทางการยอมรับ ชาวจีนหลายคนในขณะนั้นจึงยอมเปลี่ยนศาสนา เพื่อขจัดปัญหาในการถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ คนเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียจะต้องถือจดหมายแสดงความเป็นพลเมือง และจะต้องไปทำหนังสือใหม่บ่อยๆ เพื่อนำไปใช้ติดต่อกับหน่วยงานรัฐ

 

ประท้วงเผด็จการสู่จลาจลต้านจีน

แม้ตลอดช่วงการปกครองของซูฮาร์โต 32 ปี ชาวจีนจะถูกกลืนกลายเป็นชาวอินโดนีเซียภายใต้ยุคระเบียบใหม่ มีนโยบายกีดกันชาวจีน แต่ซูฮาร์โตปกครองด้วยระบบอุปถัมป์ ซึ่งกลายเป็นการไปเกื้อกูลนักธุรกิจชาวจีนที่ใกล้ชิดกับกับเขา นักธุรกิจเหล่านี้จึงมักได้รับการช่วยเหลือทั้งเรื่องใบอนุญาตในการทำธุรกิจ ทำให้นักธุรกิจชาวจีนร่ำรวยอย่างมาก ชาวจีนจึงมีภาพลักษณ์ว่าเป็นกลุ่มคนที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซีย เป็นตัวแทนยืนยันระบบอุปถัมป์และการคอร์รัปชันของซูฮาร์โต ดังนั้น การประท้วงซูฮาร์โตกลายมาเป็นความรุนแรงต่อชาวจีนในอินโดนีเซีย

หลังจากที่นักศึกษาและประชาชนต้องการประท้วงให้ซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งและการต่อต้านนี้ก็ขยายเป็นวงกว้าง ความไม่พอใจระบบอุปถัมป์และการคอร์รัปชันของซูฮาร์โตนำไปสู่ความรุนแรงทางชาติพันธุ์ มีคนทำลายข้าวของและเผาอาคารในชุมชนชาวจีนในอินโดนีเซียในเดือนพ.ค.ปี 2541

การประท้วงชาวจีนเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ทั้งกรุงจาการ์ตา สุราบายา เมดาห์ ผู้หญิงชาวจีนจำนวนมากถูกข่มขืน บ้าน ร้านค้าถูกเผา หากไปไชน่าทาวน์ในกรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน ก็ยังคงมีหลักฐานยืนยันว่า ความรุนแรงจากการจลาจลในครั้งนั้น มีชาวจีนจำนวนหนึ่งที่ทิ้งอสังหาริมทรัพย์ในอินโดนีเซียของตัวเองไปเลย

การจลาจลครั้งนั้นส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเดินทางอพยพออกนอกประเทศ หลายคนไม่กลับไปที่อินโดนีเซียอีกเลย เช่น ซูโดโน ซาลิม เจ้าของบริษัทอินโดฟู้ดที่ใกล้ชิดกับซูฮาร์โต ก็หนีไปอยู่ที่สิงคโปร์และไม่กลับไปที่อินโดนีเซียอีกเลย หลังมีคนนำรูปเขาไปชูระหว่างการประท้วงระบอบซูฮาร์โต แต่ลูกชายของเขาก็ยังคงทำธุรกิจอยู่ในอินโดนีเซีย

อ.ชนม์ธิดา เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนจีนในอินโดนีเซียเผชิญปัญหาด้านอัตลักษณ์อย่างมาก เพราะคนจีนที่เกิดในยุคซูฮาร์โตส่วนใหญ่ไม่ได้พูดภาษาจีน พูดเฉพาะภาษาอินโดนีเซีย เด็กๆ ที่เติบโตในยุคนั้นเป็นช่วงที่พวกเขาสับสนอย่างมากเมื่อเกิดจลาจลในปี 2541 หลายคนถามพ่อแม่ว่า สรุปพวกเขาเป็นคนจีน ไม่ใช่คนอินโดนีเซียหรือ?

อย่างไรก็ตาม หลังการจลาจล ก็มีการผลักดันการปฏิรูป ยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ยอมรับชาวจีนเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ในอินโดนีเซียให้มีความเท่าเทียมยิ่งขึ้น ยกเลิกจดหมายรับรองพลเมืองของชาวจีน ชาวจีนสามารถกลับไปเรียนภาษาจีนได้ รัฐบาลอนุญาตให้นับถือลัธิขงจื๊อได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวจีนจะหมดความกังวลใจ ยังเกรงว่าถ้าแสดงออกถึงความเป็นจีนมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อชุมชนชาวจีน หรือเวลาที่เกิดความตึงเครียดทางการเมือง ชาวจีนก็เริ่มกังวลว่าจะตกเป็นเป้าของความรุนแรงได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะประท้วงอะไร

 

กระแสต้านจีนกลับมาอีก เมื่อมุสลิมอนุรักษ์นิยมเริ่มเสียงดัง

ความตึงเครียดด้านชาติพันธุ์ในอินโดนีเซียปะทุอย่างชัดเจนอีกครั้งในปี 2559 - 2560 ที่มีการประท้วงต่อต้านอาฮก อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาที่มีเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสต์ การประท้วงครั้งนี้จากกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์นิยมและกลุ่มมุสลิมนิยมความรุนแรงถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการปฏิรูปประเทศ 

แม้ช่วงแรกที่อาฮกขึ้นมารับตำแหน่งจะมีคนกล่าวชื่นชมประชาธิปไตยในอินโดนีเซียที่ทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์สามารถขึ้นมารับตำแหน่งที่ค่อนข้างสูงเช่นนี้ แต่การขึ้นมาของอาฮกก็สร้างความตึงเครียดให้ชุมชนชาวจีนขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมขู่จะเผาชุมชนชาวจีนอีกครั้ง ไล่ชาวจีนออกจากจาการ์ตา อีกฟากก็มีการรวมกลุ่มของชาวจีนอนุรักษนิยม ส่งผลต่อคะแนนนิยมทางการเมือง จนโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียตัดสินใจให้คนมสุลิมที่เป็นเชื้อสายอินโดนีเซียลงเลือกตั้งแทนอาฮกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงจาการ์ตาครั้งล่าสุด

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่า โจโกวีจะรื้อฟื้นอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย สร้างข่าวปลอมว่าโจโกวีเป็นชาวจีนหรือชาวคริสต์ พร้อมโยงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและจีนดีขึ้นในยุคโจโกวี 

อ.ชนม์ธิดาอธิบายว่า ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ยุคซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรก หลังขับไล่เผด็จการซูฮาร์โต จีนได้เข้าไปลงทุนมากขึ้น จนในยุคโจโกวีที่เปิดให้จีนเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศมากขึ้น รัฐบาลโจโกวีเล็งเห็นว่าทุนจากจีนมีความสำคัญในการส่งเสริมให้อินโดนีเซียรื้อฟื้นพลังของการเป็นประเทศที่เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุด และสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังขาดเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่นจีนสามารถตอบโจทย์ 2 เรื่องนี้ได้ จึงเข้ากับนโยบายของรัฐบาลได้อย่างดี เช่น จีนได้สร้างรถไฟเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง จีนให้สินเชื่อในการนำเข้าเทคโนโลยีจากจีนในโครงการต่างๆ ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การสร้างสะพาน แต่นั่นก็ทำให้โจโกวีถูกวิจารณ์หนักว่าเปิดประเทศให้จีน และปล่อยให้แรงงานชาวจีนจะเข้าไปแย่งงานชาวอินโดนีเซีย มีข่าวปลอมเยอะมากว่าแรงงานจีนเข้ามาในอินโดนีเซียจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีบันทึกข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าอินโดนีเซียมีแรงงานชาวจีนอยู่เท่าไหร่

จากกระแสต่อต้านอาฮก การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ทำให้เห็นความเกลียดชังต่อประเทศจีนและชาวจีนในอินโดนีเซียมากขึ้น เป็นผลมาจากกระแสอิสลามนิยม ที่ถูกกลุ่มการเมืองนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

 

เกลียดชังจีนเพราะโควิด-19

เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดในอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียปกปิดข้อมูลในช่วงแรก โจโกวีได้ออกมาบอกเองว่าปกปิดข้อมูลในช่วงต้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดความตระหนกในกลุ่มประชาชน การตรวจเชื้อก็ตรวจได้ไม่เยอะและล่าช้า ในช่วงแรกๆ ตรวจได้ที่กรุงจาการ์ตาเท่านั้น ส่วนหนึ่งตรวจแล้วก็อาจมีผลเป็นลบ แต่กลับมีอาการโควิดเกิดขึ้น ซึ่งแสดงว่าการตรวจไม่มีประสิทธิภาพปัจจุบันมียอดเกือบ 10,000 คนเสียชีวิตไปกว่า 700 รายซึ่งจริงๆ แล้วยอดน่าจะสูงกว่านี้เพราะมีคนจำนวนมากที่เสียชีวิตจากอาการโคม่า แต่ไม่ได้ตรวจเชื้อ

อัตราการเสียชีวิตในอินโดนีเซียก็สูงที่สุดในอาเซียน แพทย์พยาบาลก็เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นความตึงเครียดที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วในการต่อต้านจีนและชาวจีนในอินโดนีเซีย ปัญหาเรื่องอคติชาติติพันธ์จึงกลายเป็นประเด็นที่พบเห็นได้ กลุ่มนิยมความรุนแรงและกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ยังคงเรียกโรคดังกล่าวว่าเป็น “ไวรัสจีน่า” หรือไวรัสจะจีนในภาษาอินโดนีเซีย บางคนในทวิตเตอร์ก็ใช้คำว่าไวรัส PKI ซึ่งเชื่อมโยงถึงพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ มีการเรียกร้องให้รัฐบาลห้ามชาวจีนเดินทางเข้ามาหรือกลับมาที่อินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนด้วย อีกทั้งยังเรียกร้องให้ชาวอินโดนีเซียเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากจีน เช่น โทรศัพท์เสียวหมี่ เรียกร้องให้คนอินโดนีเซียเลี่ยงพื้นที่ของคนจีน เลิกไปซื้อของหรืออาหารจากร้านของชาวจีนอินโดนีเซีย ห้ามใกล้ชิดกับชาวจีนอินโดนีเซีย เพราะอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้

ความตึงเครียดนี้ก็ส่งผลในแง่ที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างล่าช้า เช่น กรณีมูดิก หรือการเดินทางกลับบ้านของชาวมุสลิมในช่วงรอมฎอน ซึ่งใช้เวลาถกเถียงกันนานมากว่าควรจะแบนหรือไม่แบนการเดินทางกลับบ้านของประชากรชาวอินโดนีเซีย เพราะการเดินทางกลับบ้านในอินโดนีเซีย คนก็จะเดินทางออกหลายล้านคน อาจมีการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลก็เกรงว่าจะเกิดการประท้วงจากชาวมุสลิม แต่ปัจจุบันรัฐบาลก็แบนไม่ให้มีการเดินทางกลับบ้าน แบนการเดินทางทางทะเลและทางสายการบินภายในประเทศต่างๆ รถไฟต่างๆไม่สามารถที่จะให้มีการจองตั๋วหรือซื้อตั๋วเดินทางกลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงมี.ค. ที่ผ่านมา ยังมีแรงงานชาวจีนเดินทางเข้ามาในอินโดนีเซียจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินโดนีเซียว่า ทำไมจึงยอมให้ชาวจีนเหล่านี้เดินทางเข้ามาได้อีก ซึ่งรัฐบาลก็ชี้แจงว่า พวกเขามีสิทธิ์เดินทางเข้ามา เนื่องจากมีวีซ่าการทำงาน และต้องกักตัวก่อนทำงานด้วย คนในทวิตเตอร์จึงเชื่อมโยงว่า รัฐบาลยอมให้แรงงานจีนเข้าไปในประเทศ เพราะรัฐบาลเป็นรัฐบาล PKI และเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ พร้อมติด #virusPKI

อ.ชนม์ธิกากล่าวว่า เมื่อเกิดโรคระบาดก็เชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของคน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชาวจีนอินโดนีเซียกังวลเรื่องการจลาจลที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะการต่อต้านชาวจีนและการต่อต้านซูฮาร์โตก็เกิดมาจากปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นเรื่องง่ายมากที่คนจะโยนความผิดในเหตุการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ไปให้กับชาวจีนในอินโดนีเซีย

อ.ชนม์ธิดามองว่า เรื่องโควิด-19 หรือเศรษฐกิจที่เติบโตช้าล้วนก่อให้เกิดความกังวลว่า อาจจะเกิดการจลาจล แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจลาจลจะะเกิดขึ้นหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับว่านโยบายของรัฐบาลในการจัดการเรื่องความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนจะมีประสิทธิภาพขนาดไหน