ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนยานพาหนะระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.), กรมทางหลวง (ทล.), และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ 'แบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow)' ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) ร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานคือ ขบ., ทล., กทพ. และเอกชนผู้รับสัมปทานคือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบมจ.ทางยกระดับดอนเมือง
ศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้ให้นโยบาย กทพ. และ ทล. ศึกษาการนำระบบการให้บริการทางด่วนและมอเตอร์เวย์แบบไม่มีไม้กั้น Multi-Lane Free Flow หรือ M-Flow เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่านฯ โดยทั้ง ทล.และกทพ.ได้หารือกับเอกชนผู้รับสัมปทาน เพื่อบูรณาการทำงานในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) คือ นำระบบกล้องอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ เป็นระบบ AI ส่งข้อมูลเชื่อมต่อกับกรมขนส่งทางบก เพื่อเรียกเก็บค่าผ่านทาง โดยให้ชำระเงิน ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น หักค่าบัตรเครดิต, แจ้งบิลค่าใช้จ่ายรายเดือน ลักษณะเหมือนบิลค่าบริการโทรศัพท์มือถือ โดยเจ้าของรถจะต้องโหลดแอปพลิเคชัน และลงทะเบียนเพื่อเลือกวิธีการชำระเงิน
ทั้งนี้ ทล.กำลังประมูลหาผู้รับจ้าง เข้ามาติดตั้งระบบ ซึ่งจะทดสอบระบบเสร็จภายในสิ้นปี 2563 และหลังปีใหม่ 2564 จะเริ่มนำร่องยกเลิกไม้กั้น ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (มอเตอร์เวย์ สาย 9) ที่ด่านทับช้าง จากนั้นจะขยายไปครบทุกด่านของมอเตอร์เวย์ ส่วนทางด่วนของ กทพ.จะเริ่มนำร่องที่ ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ (ทางพิเศษฉลองรัฐ) เช่น ด่านบางนา กม.6 ,ด่านดาวคะนอง และจะขยายไปครบทุกด่านทั้งมอเตอร์เวย์และทางด่วนภายในปี 2564
ให้ทั้งทล. กทพ. และเอกชน เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลประชาชน ไม่เกิดความสับสน และวุ่นวาย เรื่องนี้อาจจะใหม่สำหรับคนไทยแต่ในต่างประเทศใช้กันมานานแล้ว นอกจากนี้ ต้องหาแนวทางเยียวยาพนักงานเก็บค่าผ่านทางที่จะได้รับผลกระทบจากการนำระบบ AI เข้ามาทำงานแทน
โดยระบบนี้นอกจากแก้รถติดหน้าด่านแล้ว ยังจะเพิ่มความสะดวกในการชำระค่าผ่านทาง ในหลายช่องทาง นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาการสูญเสียรายได้จากค่าผ่านทางกรณีมีการติดค้าง หรือฝ่าด่านโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งที่ผ่านมามีหนี้ติดค้างประมาณ 2% ของรายได้ต่อวัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณรถบนทางด่วน กว่า 1.9 ล้านคัน/วัน ถือว่าค่อนข้างสูง โดย ทล.และ กทพ.จะว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาทำหน้าที่เรียกเก็บค่าผ่านทางส่งให้ ทล. และ กทพ.ครบ 100% กรณีมีการติดค้างเอกชนมีหน้าที่ทวงหนี้และมีค่าปรับเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นจะมีค่าปรับประมาณ 10 เท่า
นอกจากนี้ ได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเพิ่มเงื่อนไข เรื่องการไม่ชำระค่าผ่านทางพิเศษ ให้กำหนดเป็นความผิด ภายใต้ พ.ร.บ.จราจร ซึ่งเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) แล้วเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ต่อไป