ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เดินหน้าสำรวจและเยียวยาความเสียหายจากพายุปาบึกทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินอย่างทั่วถึง ยืนยันชาวเลไม่มีโฉนดที่ดินต้องได้รับการเยียวยาอย่างเท่าเทียม

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ถึงการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย, ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง, พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ และประมง รวมถึงเครื่องมือประกอบอาชีพและยานภาหนะ ซึ่งจะเยียวยาตามกรอบของกฎหมายเหมือนที่เคยทำมาเมื่อปี 2559-2561 แต่ครั้งนี้คววามเสียหายกระจายไปทั่วจังหวัด แต่ความเสียหายยังไม่เท่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2560


จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.นครศรีธรรมราช

จำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าฯ จ.นครศรีธรรมราช

ดังนั้นการเยียวยาฟื้นฟูจึงไม่ยาก เพราะมีระบบการจัดการจากท้องถิ่น นายอำเภอ มาจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจในการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปสร้างหรือซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย รวมทั้งเครือข่ายความช่วยเหลือจากกองทัพและสถาบันอาชีวศึกษา ตอนนี้เริ่มลงพื้นที่ไปซ่อมสร้างกันแล้ว เริ่มตั้งแต่ถนน เสาไฟฟ้า และต้นไม้ที่กีดขวางทางจราจรก่อน แล้วจึงจะปลูกสร้างบ้านเรือนที่เสียหายหนัก ส่วนบ้านเรือนที่เสียหายเล็กน้อย ประชาชนสามารถซ่อมแซมได้เอง แล้วนำหลักฐานมาเบิกกับองค์การบริหารส่วนตำบล

ส่วนพื้นที่ทำกินที่ได้รับความเสียหายจะต้องมีการตรวจสอบและสำรวจพื้นที่เพื่อทำรายงานไปยังคณะกรรมการตรวจสอบ และรัฐบาลให้อนุมัติงบประมาณตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะให้งบประมาณหลายร้อยล้านถึงหลายพันล้าน ขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลานานกว่าการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย แต่ยืนยันว่าจะไม่ล่าช้าเหมือนกรณีพายุโทราจีเข้าถล่มอำเภอนบพิตำ เมื่อปลายปี 2561 ตนจะเร่งรัดกระบวนการให้เร็วที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีชาวเลที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งจำนวนมากที่ไม่มีโฉนดที่ดินกังวลว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผู้ว่าฯ ชี้แจงว่าตามหลักกฎหมาย หากขึ้นทะเบียนบัญชีกลุ่มเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าครัวเรือนไหนที่ไม่มีทั้งโฉนดที่ดิน และไม่ได้ลงทะเบียนกับกลุ่มเกษตรกร ตนจะพิจารณาเป็นกรณี โดยมีเงินกองทุนและมูลนิธิคอยช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนจริงๆ แต่ตกสำรวจ หรือไม่ได้ขึ้นทะเบียน สามารถร้องเรียนได้ที่นายอำเภอ เพื่อตรวจสอบและส่งเรื่องมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ มองว่าการเตือนภัย การอพยพ และระบบการจัดการภัยพิบัติครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี แทบไม่มีผู้เสียชีวิตในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการฝึกอบรมและสร้างเครือข่ายชุมชน ‘หนึ่งตำบลหนึ่งจัดการภัยพิบัติ’ ให้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และจิตอาสารู้จักวิธีการเตือนภัย การสื่อสารในระบบฉุกเฉิน และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ขณะเดียวกันตนยังเห็นว่าการให้ความสนใจของประชาชนในเรื่องการเตือนภัยยังไม่มากพอ ประชาชนบางส่วนยังไม่ตื่นตัวที่จะขนย้ายข้าวของตามประกาศอพยพ แต่มารีบอพยพในเช้าวันที่พายุขึ้นฝั่ง ทำให้ข้าวของเสียหายจำนวนมาก แม้จะรักษาชีวิตไว้ได้ก็ตาม ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้ประชาชนตื่นตัวกับการเตือนภัยและพร้อมที่จะเตรียมตัวอพยพข้าวของตามคำประกาศ


อ่านเพิ่มเติม