นั่นเป็นคำตอบของ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการผู้แฝงตัวเป็นคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์เป็นแรมปีเพื่อทำความเข้าใจกับ "โลกของคนไร้บ้าน" นอกจากนี้เขายังพาตัวเองเข้าไปรับรู้เรื่องราวของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมระหว่างปี 2553-2557 จนได้ผลผลิตเป็นงานวิจัยของความเจ็บปวดที่ชื่อว่า "อยู่กับบาดแผลฯ"
ไม่อาจปฏิเสธ เร่งรัดอะไรได้ เพราะถือเป็นวิถีทางทำความเข้าใจปรากฏการณ์สำหรับนักมานุษยวิทยา หลังจากฝ่าดงกระสุนยาง ผ่านบรรยากาศอบอวลกลิ่นแก็สน้ำตา และได้พูดคุยกับผู้คนที่ออกไปประจันหน้าท้าทายอำนาจรัฐ สิ่งที่เราได้จากเขา หากสรุปให้สั้นกระชับสุดคือ "นี่ไม่ใช่การเมืองเรื่องจำนวนนับ แต่มันเป็นการเมืองของความปั่นป่วน" และสิ่งที่เขาเห็นคือภาพการปะทะกันระหว่าง เยาวชนที่เป็นชนชั้นล่างที่ถูกกดมานาน กับเจ้าหน้าที่ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการ
ก่อนเข้าสาระของการพูดคุย บุญเลิศ เปิดภาพถ่ายในมือถือให้ดู เป็นภาพท่อนแขนชุ่มเลือด เขาว่าเป็นแขนของน้องคนขับมอเตอร์ไซค์ที่พาลงพื้นที่ วิถีของกระสุนยางมาจากทางด้านหลังปาดแขนเขาไปเป็นรอยดำ ก่อนพุ่งตรงไปยังคนขับ
"ไม่เป็นไรครับอาจารย์ ถึงผมไม่พาอาจารย์มา ผมก็มาเองอยู่แล้ว" หนุ่มผู้ช่วยนักวิจัยจำเป็น เอ่ยหลังสิ้นคำขอโทษของผู้โดยสาร
ถ้ามองอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่เรื่องยากที่จะเห็น วัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ออกมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ราชการ ที่รู้จักกันในนามของหน่วยควบคุมฝูงชน (คฝ.) แต่ถ้ามองแบบนามธรรมสิ่งที่เขาเห็นคือ เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิหลังจากชนชั้นล่าง หรือเกือบล่างของสังคม กำลังต่อสู้กับกลุ่มคนที่เป็นตัวแทน หรือสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐเผด็จการซึ่งกดขี่ และไม่รับฟังเสียงของประชาชน
จากการพูดคุยกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมมาก่อนหน้า เขาเปิดจุดยืนขึ้นก่อนว่า "โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยสนับสนุนแนวทางที่รุนแรง" เพราะไม่อยากเห็นใครต้องใช้ชีวิตอยู่กับบาดแผลอีกเพิ่มขึ้น แต่เมื่อการต่อสู้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การหาคำตอบว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
“เราต้องมองเขาอย่างเข้าใจ เพราะพวกเขาก็ถูกกดขี่มานาน และในสนามนี้มันทำให้เขาได้ออกมาตอบโต้บ้าง ซึ่งแน่นอนมันขัดใจความรู้สึกคน ขัดบรรทัดฐานบางอย่าง และขัดใจเจ้าหน้าที่รัฐด้วย แต่เมื่อสังคมกด วันหนึ่งมันก็กลายเป็นแบบนี้”
"ผมพยายามทำความเข้าใจ เข้าไปถาม แล้วก็พบว่าในจำนวนคนที่ไปร่วมชุมนุมที่ดินแดง ล้วนแต่เคยไปร่วมการชุมนุมของนักศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมาทั้งนั้น บางคนไปเป็นการ์ดอาสา บางคนก็ไปเพื่อเพิ่มจำนวนนับ แต่พอผมถามว่าไปร่วมการชุมนุมแล้วรู้สึกอย่างไร หลายคนเริ่มคิดว่า ลำพังการออกไปเพิ่มจำนวนนับไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะปีที่ผ่านมีคนออกมาชุมนุมหลักแสนก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือน เขาเห็นว่า การตอบโต้ด้วยวิธีการอื่นน่าจะชัดเจนกว่า"
“มีน้องเยาวชนพูดกับผม ถามว่าเคยไปร่วมชุมนุมไหม เขาบอกว่า ไปครับ แต่พวกผมเป็นคนพูดไม่เก่ง พวกเขาก็คงไม่สามารถไปปราศรัยเป็นเนื้อหา ถามว่าเขามีจิตใจกับข้อเรียกร้องของนักศึกษาไหม เขามี แต่เขาทำแบบนี้ถนัดกว่า ผมรู้สึกว่าพวกเขากำลัง Disrupt เขามีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกับนักศึกษา ที่คิดว่าการชุมนุมต้องสร้างความชอบธรรมชวนคนมาเห็นด้วย ซึ่งเป็นการสร้างอำนาจต่อรอง ในทางวิชาการเรียกว่า Politic of Number แต่พวกเขาคิดอีกแบบ มันเป็น Politic of Disruption หรือการเมืองของการปั่นป่วน”
ข้อเรียกร้องชัดเจนที่เขาสังเกตเห็น และรับรู้จากการพูดคุยคือ การขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่จะดันไปถึงขั้น 'ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์' หรือไม่ยังเห็นไม่ชัดเจน ผู้คนในสนามที่เขาเห็นส่วนใหญ่ยังเป็นเยาวชน ไม่ใช่เด็กอาชีวะทั้งหมด แต่มีเด็กบ้าน/ชุมชน อยู่ในนั้นด้วย แม้ส่วนหนึ่งจะเรียนโรงเรียนช่าง แต่พวกเขาออกมาพร้อมกับเพื่อนในระแวกบ้าน
"พวกเขาพูดรูปธรรมจากชีวิตของตัวเอง คือ เขาไม่ได้ได้เรียนอย่างเดียว ใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบ เรียนด้วยทำงานด้วย และงานที่เคยทำตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้ บางคนทำงานร้านอาหาร ทำงานบริการ พอธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบพวกเขาก็ไม่มีรายได้ ฉะนั้นปฏิกริยาตอบโต้ที่เกิดจากความไม่พอใจของเขาก็มาจากความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไร้ประสิทธิภาพ บางคนบอกว่า ถ้าลองประยุทธ์ออกไปวันนี้สิ พรุ่งนี้ก็ไม่มีการชุมนุมทุกคนจะเงียบสงบ ฉะนั้นเป้าร่วมที่ไม่ซับซ้อนของพวกเขาคือ ไม่เอารัฐบาลประยุทธ์"
บุญเลิศมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดง คือ การออกมาป่วนทุกเย็น ทำให้รัฐ และ คฝ. เดาทางไม่ถูก หากคุณขับรถพุ่งมาหาเขา พวกเขาก็กระจายตัวขี่มอเตอร์ไซค์หนี พอคุณสลายตัว พวกเขาก็กลับมาใหม่ แม้จะเป็นวิธีการที่ไม่สามารถตัดสิน แพ้-ชนะ อย่างเด็ดขาด แต่สำหรับพวกเขาคือ การป่วนอำนาจรัฐ โดยทำให้เห็นว่า รัฐไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหานี้
“จะบอกว่าเข้าทางรัฐไหม ผมว่าไม่ขนาดนั้นหรอก เพราะรัฐกำลังเผชิญกับสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าจะจัดการยังไง ถ้าพูดเป็นภาษาทางการทหารนี่ก็คือ สงครามกองโจรในเมืองรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่มีใครปรากฏตัว ไม่มีใครออกแถลงการณ์ว่าผมคือผู้ดำเนินการทั้งหมด”
บุญเลิศ ให้มุมมองที่กว้างออกไปจากที่หลายคนกำลังมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดง จะกลายเป็นการผ่านบอลให้รัฐยิงเข้าประตูง่ายๆ หากย้อนไปปีก่อนเขายังมีความเชื่อว่า ฝ่ายรัฐส่งคนเข้ามาแอบแฝงในการชุมนุม และใช้ความรุนแรงเพื่อจะทำลายความชอบธรรมของการชุมนุม แต่กรณีนี้มันเหนือความคาดหมายจากรัฐไปแล้ว
เพราะมีคนที่พร้อมกระทำการอย่างเป็นอิสระด้วยตัวเอง ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ รัฐรับมือไม่ได้ และยิ่งเป็นการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีหัวหน้าการ์ด ไม่มีใครที่จะมาต่อรองเจรจากับรัฐได้ มันจึงเป็นการชุมนุมที่รัฐคาดไม่ถึง
"เวลาคนเถียงกันว่าการชุมนุมแบบนี้เป็นสันติวิธีหรือไม่ ผมคิดว่าคนที่เขาไป เขาก็ไม่ได้สนใจสิ่งที่พวกมึงกำลังเถียงกันเลย มันจะสันติหรือไม่ กูก็เลือกทางนี้อยู่แล้ว กูไม่แคร์อยู่แล้ว คนที่เถียงก็คือปัญญาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมตรงนั้น แต่ถ้าว่ามันมีข้อเสียไหม ผมคิดว่ามี อย่างหนึ่งคือ มันทำให้คนที่ไม่แยกแยะก็เหมารวมว่าการชุมนุมมันเป็นแบบนี้ไปหมด กลุ่มที่พยายามจัดการชุมนุมแบบสันติก็อาจจะเหมารวมไปด้วย แต่ตอนนี้มันดีอย่างหนึ่งคนที่อยากทำแบบดินแดงเขาก็ทำของเขาไปเลย ส่วนคนที่เขายันจัดชุมนุมแบบคาร์ม็อบ แบบแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เขาก็ทำของเขาไป คนก็แยกแยะเอาเอง มันก็เป็นทางเลือก"
บุญเลิศเห็นว่า การเคลื่อนไหวแบบนี้มีลักษณะเป็นเครือข่ายหลวมๆ ไม่มีศูนย์กลางบัญชา แต่ละคน แต่ละส่วนปฏิบัติการอย่างมีอิสระ ไม่มีความพยายามเข้าหาศูนย์กลาง แต่อาจจะมีส่วนที่โยงใยกันอยู่บาง
ขณะที่หนึ่งในมาตรการที่ดำเนินไปอย่างเงียบๆ และไม่ได้เป็นที่รับรู้มากนักคือ ในช่วงที่ดินแดงกำลังปะทุใหม่ๆ มีการเข้าไปติดตามกลุ่มคนที่รัฐคาดว่าอาจจะเข้ามาสนับสนุน หรือจัดตั้งกลุ่มวัยรุ่นได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า รัฐกำลังหวาดกลัว และยังเชื่อว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องมีคนอยู่เบื้องหลังเสมอ
“ผมยังเชื่อว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของคนที่ไม่พอใจ และก็ไม่แน่ว่าหากคุณเจรจากับคนที่คุณเข้าใจว่าเป็นแกนนำได้ แล้วคนอื่นๆ จะเชื่อฟัง คือมันอยู่ในภาวะที่เป็นอิสระพอสมควร หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะ anarchism ไร้อำนาจรัฐ ไร้ส่วนกลาง ไร้คำสั่ง”
“พวกเขาต่างจากนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมแบบเพิ่มจำนวนนับ ออกมาหลักหมืนหลักแสน แต่ดูสถานการณ์แล้วเป็นไปไม่ได้ ก็กลับไปที่พัก เตรียมตัวว่าจะย้ายประเทศ จะทำงานให้ดี แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้คิดแบบนั้น เขาไม่ได้มีทรัพยากร ต้นทุนมากพอ ที่จะคิดถึงการย้ายประเทศ คิดถึงการเรียนดีๆ เขาเห็นแค่ว่าชีวิตเขาตอนนี้มันจวนตัวมาก”
บุญเลิศเห็นว่า ภาวะที่เกิดขึ้นยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ จลาจล เพราะเป้าหมายของพวกเขายังอยู่ที่ คฝ. หรือสัญลักษณ์อื่นๆ ของรัฐ พวกเขาไม่ได้ตอบโต้กับประชาชนคนอื่นๆ หากเทียบกับต่างประเทศที่มีความขัดแย้งในประเด็นการเหยียดสีผิว สิ่งที่เห็นคือ การออกไปปล้นสะดมร้านคนรวย หรือกลุ่มทุน แต่ในเวลานี้ผู้ชุมนุมยังไม่มีเซ้นส์แบบนั้น พวกเขาต้องการแค่ป่วนรัฐ มอง คฝ. เป็นศัตรู ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับชาวบ้านรอบข้าง และชาวบ้านรอบข้างเอง แม้จะไม่ได้สนับสนุนผู้ชุมนุมเต็มตัว แต่ก็รู้ว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ อย่างการยิงแก๊สน้ำตาโดยไม่ได้สนใจอะไรเลยว่ามันจะเข้าไปในบ้านใคร หรือยิงกระสุนยางจนไม่รู้ว่ามันจะไปโดนคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
เมื่อถามถึงการขยายตัว หรือการยกระดับความปั่นป่วน บุญเลิศยังไม่เห็นแนวโน้มเหล่านั้น แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมที่กระจายจุดกันไป ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็จะยิ่งสร้างการปั่นป่วนให้กับรัฐ แต่อาจจะต้องหาพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่ดี มีความหมาย และไม่ส่งผลกระทบกับผู้คนมากเกินไป
“มันมีภาพประมาณ 2-3 วัน ที่ปรากฎออกมาแล้วแย่มากๆ คือ ภาพที่ตำรวจอยู่บนรถปิ๊กอัพ ออกไล่ล่าคนเหมือนในหนัง ยิงใครไปบ้างผิดๆ ถูกๆ รวมทั้งภาพที่ยิงกระสุนยางในระยะประชิด แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำให้การชุมนุมน้อยลง ยิ่งรัฐปราบรุนแรง ยิ่งจุดไฟให้พวกเขา และเขายิ่งรู้สึกว่าคุณก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน คุณก็แค่อันธพานในเครื่องแบบ”
เขาย้ำว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ เจ้าหน้าที่ คฝ. ยังถูกฝึกมาอย่างไม่เป็นมืออาชีพ เขายกประเด็นนี้ขึ้น จากที่เคยทำวิจัยเรื่องอยู่กับบาดแผล ซึ่งพบว่า ทั้งคนเสื้อแดง กลุ่ม กปปส. ที่ถูกเจ้าหน้าที่โจมตีโดยใช้ความรุนแรง ทั้งสองฝ่ายพูดตรงกันอย่างหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ และปัญหาเรื้อรังนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขในละดับรากฐาน ทั้งหมดนี้คือความผิดพลาดในเชิงระบบที่ออกมาแบบมาอย่างไม่เป็นมืออาชีพ เมื่อผสมผสานกับอารมณ์ของคนหน้างาน ภาพความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่จึงปรากฏ
“อีกเรื่องหนึ่งคือ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคม ในฝั่งตำรวจผู้บังคับบัญชาเองก็คงได้รับคำสั่งมาให้ปกป้องพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ในระดับที่ไม่ยอมให้เข้าไปได้อย่างเด็ดขาด นี่ก็คือการขีดเส้นตายที่ทำให้เจ้าหน้าที่หน้างานต้องทำงานอย่างเต็มกำลัง เพราะเกรงว่าตัวเองจะมีความบกพร่องต่อหน้าที่ ทั้งที่เรื่องหลายเรื่องควรจะยืดหยุ่นกันได้ อย่างหน้าทำเนียบตลอด 10-20 ปีที่ผ่านก็มีการชุมนุมหน้าทำเนียบกันหลายครั้ง ทำไมต้องห้ามกันขนาดนี้”
พ้นไปจากความรุนแรงที่ใช้ปราบปราม เขาเห็นว่า อุณหภูมิความเดือดที่ดินแดงจะพุ่งสูงมากขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลด้วย หากยอมถอยความไม่พอใจของผู้คนอาจจะลดระดับลง
บุญเลิศเห็นว่า ถึงจุดนี้การกลับไปรวมตัวกันอีกครั้งระหว่างขบวนการของนักศึกษา กับขบวนอิสระที่แยกดินแดง ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้อาจจะมีกลุ่มอาชีวะบางส่วนที่ยังอยู่กลับกลุ่มขบวนหลัก แต่กลุ่มที่ออกมาเลือกแนวทางนี้อาจจะไม่กลับไปอีกแล้ว
"แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศทั่วโลก เวลาที่รัฐบาลยอมลงมาเจรจากับขบวนการสันติวิธี ก็เป็นเพราะมันเกิดกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงคอยกดดันอยู่ด้วย กลุ่มสันติวิธีบางที่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยเอง ถึงจุดหนึ่งรัฐจะรู้ว่า ถ้าผมดีลต่อรองกับคนที่สันติวิธี อย่างน้อยมันก็ช่วยสลายอีกกลุ่มให้เหลือน้อยลง
แต่หากรัฐบาลไม่เรียนรู้อะไรเลย และวันหนึ่งเลือกใช้กระสุนจริงในการปราบปราม ก็จะยิงกลายเป็นการทำลายความชอบธรรมของตัวเอง ถึงแม้จะบอกว่าคนกลุ่มนี้ป่วนก็ตาม แต่มาตรการของรัฐก็ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด อย่างการยิงกระสุนยางตามหลักแล้วจะยิงก็ต่อเมือเห็นผู้ชุมนุมกำลังจะเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ว่าจะไปไล่ยิงเขาอย่างกับเขาเป็นอาชญากร ก็ได้แต่หวังว่าความรุนแรงจากรัฐจะไม่เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะยิ่งทำไปก็ยิ่งได้ผลตรงกันข้าม"
เขามองว่า จุดต่างระหว่างปฏิบัติการของรัฐในปี 2553 กับ 2564 คือมุมมองที่รัฐเห็นว่า ปี 2553 มีกองกำลังที่ติดอาวุธจริง ซึ่งหากรัฐมีความเชื่อแบบนั้นเมื่อไหร่ ก็จะเปิดฉากสู้อย่างเต็มที่โดยใช้กระสุนจริง แต่สำหรับปี 2564 สถานการณ์ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น เพราะการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษายังอยู่ในกรอบของการใช้วาจาในการวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มวัยรุ่นก็ยังอยู่ในระดับของการป่วน ซึ่ง คฝ. ที่เคยเผชิญหน้าด้วยก็น่าจะรู้ดีว่า พวกเขาก็มีของอยู่เท่านั้น และมันไม่ใช่อาวุธร้ายแรง
“ผมก็สงสัยนะ ระหว่างที่ไปยืนคุย บางคนก็บอกว่าปืนไทยประดิษฐ์ไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่หาไม่ได้ เด็กๆ พวกนี้มันมีทั้งนั้น แต่ผมก็คิดว่ามันยังมีศีลธรรมของการตอบโต้อยู่ คือไม่เอาถึงชีวิต แต่ภาพอาจจะเปลี่ยนไปหากวันหนึ่งพวกเขานำมาใช้ เพราะถึงอย่างไรรัฐก็ยังเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง และไม่มีทางที่ประชาชนจะมีอาวุธสู้กับรัฐได้ สิ่งที่ประชาชนมีคือ การต่อสู้ที่ทำให้การลั่นกระสุนของรัฐไร้ความชอบธรรม แต่ถ้าไปถึงระดับที่ทำให้รัฐสร้างความชอบธรรมในการลั่นกระสุนได้ ก็อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยที่จะให้รัฐใช้มาตรการเด็ดขาด”