ไม่พบผลการค้นหา
'ศรีสุวรรณ' บุกร้อง 'นายกฯ' เอาผิดผู้บริหารกรมศุลกากร-กรมปศุสัตว์ ปฏิบัติหน้าที่ขัดกฎหมาย กระทบเอกชนได้รับความเสียหายทางธุรกิจ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำตัวแทนผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ไปจำหน่ายต่างประเทศ มายื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรีและ หน.คสช. ผ่านเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการค้า และหาทางออกและหาข้อยุติ กรณีที่กรมศุลกากรอายัดสินค้าในพื้นที่ปลอดอากร ที่จะนำส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยอ้างว่าไม่มีใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์

โดย พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 มาตรา 152 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการนําของเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนําวัตถุดิบภายในราชอาณาจักร เข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของนั้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ของนั้นได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพ การประทับตราหรือเครื่องหมายใด ๆแก่ของนั้น

แต่ปรากฎว่ากรมศุลกากรกลับอายัดสินค้าของผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตปลอดภาษี เพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายและปั่นป่วนในธุรกิจดังกล่าวเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการจึงเดินทางมายื่นคำร้องต่อนายกฯ/หน.คสช. เพื่อสั่งการหรือดำเนินการ 6 ข้อ ดังนี้    

1)ขอให้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจว่า มาตรา 31 แห่ง พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ขัดหรือแย้งต่อ พรบ.ศุลกากร 2560 ม.152 ประกอบกฎกระทรวง กําหนดพื้นที่ที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับ การควบคุมการนําเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของในเขตปลอดอากร พ.ศ. 2560 หรือไม่ อย่างไร    

2)ขอให้วินิจฉัยว่า การใช้อำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ในการอายัดตู้สินค้าของผู้ประกอบการ ที่สั่งนำมาพักไว้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการส่งออกเท่านั้น โดยอ้างว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มีใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์มาแสดง พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาและยื่นฟ้องผู้ประกอบการว่ามีความผิดฐานนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด อันเป็นความผิดตาม ม.244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร 2560 ประกอบพรบ.โรคระบาดสัตว์สัตว์ 2558 นั้น ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนนโยบายของรัฐบาลหรือ หน.คสช. ตามคำสั่งที่ ๒/๒๕๖๐ ประกอบ พรบ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 และ ม.152 แห่งพรบ.ศุลกากร 2560 หรือไม่ อย่างไร  

3)การที่กรมปศุสัตว์ มีการเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้า-ส่งออกและหรือนำผ่านซึ่งผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมนำเข้าสูงถึง 7 บาท/กก. สินค้าผ่านแดน 2 บาท/กก. ซึ่งในแต่ละเดือนมีการนำสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ผ่านแดนประมาณ 1-2 ล้าน กก.นั้น การเก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดนดังกล่าว โดยไม่คำนึงว่าสินค่าปศุสัตว์จะอยู่หรือดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ปลอดอากรหรือไม่นั้น ถือเป็นการใช้เล่ห์ฉลในการหาประโยชน์อื่นใดเข้ารัฐ โดยใช้นโยบายของรัฐบาลเป็นเป้าล่อให้ผู้ประกอบการหลงเชื่อมาให้ติดบ่วงแร้ว จนเสียหาย อันเป็นการย้อนแย้ง หรือขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในเขตส่งเสริม EEC หรือไม่ อย่างไร    

4)ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ และกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น เพื่อหาข้อยุติว่าเป็นการกลั่นแกล้วผู้ประกอบการค้านำสินค้าผ่านแดนหรือใช้อำนาจโดยโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือดำเนินการขัดหรือแย้งต่อนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร หากพบว่าเป็นการฝ่าฝืนขอให้ดำเนินการลงโทษในขั้นสูงสุดต่อไปด้วย     

5)ขอให้ดำเนินการอย่างใด ๆ เพื่อสั่งการให้กรมศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ยุติหรือทบทวนการอายัดสินค้า โดยให้ปล่อยตู้สินค้าให้กับผู้ประกอบการเอกชน เพื่อดำเนินการส่งออกไปยังประเทศปลายทางตามวัตถุประสงค์ต่อไปโดยด่วนด้วย ทั้งนี้เอกชนดังกล่าวยืนยันว่าพร้อมจะปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งตามนโยบายของรัฐบาลทุกประการ     

6)หากข้อร้องเรียนของสมาคมฯและผู้ประกอบการมีข้อสรุปว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และกรมปศุสัตว์ เป็นการดำเนินการโดยชอบแล้ว ขอให้ นายกฯ/หน.คสช. สั่งการให้ รมว.กระทรวงการคลังยกเลิกกฎกระทรวง กําหนดพื้นที่ที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับ การควบคุมการนําเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของในเขตปลอดอากร พ.ศ.2560 เสีย เพื่อมิให้เอกชนหรือผู้ประกอบการผิดหลง ตกเป็นเหยื่อของระบบราชการอีกต่อไป