ไม่พบผลการค้นหา
กทม.จับมือ สปสช.เขต 13 ตั้งคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร เชิญชวนผู้สูงอายุตรวจคัดกรองสุขภาพฟรี 11 รายการ ตั้งเป้าปีนี้ตรวจคัดกรองได้ 10,000ราย และปีต่อไปขยายคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรเพิ่มเป็น 40 โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขครบทั้ง 68 แห่งทั่ว กทม.

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 จัดทำโครงการคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อขยายการคัดกรอง และส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม.ให้ครอบคลุมมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุและญาติที่มีผู้สูงอายุในครอบครัว ไปรับบริการในหน่วยบริการที่มีการจัดตั้งคลินิกดังกล่าวได้ฟรีทุกสิทธิ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ ซึ่งเปิดดำเนินการอยู่ใน 9 โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ กทม.มีประชากรหนาแน่น คาดว่ามีทั้งประชากรตามทะเบียนราษฏรและประชากรแฝงในพื้นที่กว่า 10-12 ล้านคน และจากการสำรวจสำมะโนประชากรผู้สูงอายุพบว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีประมาณ 17% หรือ 1 ล้านคน ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุครอบคลุมมากขึ้น ทาง กทม.จึงได้หารือกับ สปสช.เขต 13 เพื่อขยายการดำเนินการคลินิกผู้สูงอายุและงบประมาณในการดำเนินการ ภายใต้ชื่อโครงการคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร

เดิมที สปสช.เขต 13 กทม.มีงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับตรวจคัดกรองผู้สูงอายุอยู่แล้ว 8 รายการ คือ 1.การตรวจสุขภาพ 2.เจาะเลือดตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดระดับเม็ดเลือด ระดับไขมัน3.วัดภาวะความซึมเศร้า 4.วัดภาวะสมองเสื่อม 5.ดูเรื่องโภชนาการ 6.ประเมินการใช้ชีวิตประจำวันหรือ ADL 7.ประเมินเรื่องการใช้ยา และ 8.ประเมินภาวะกระดูกพรุน

ขณะที่ กทม.เห็นว่ายังมีรายการตรวจคัดกรองที่สำคัญอีก 2-3 รายการ ดังนั้นคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรจะมีรายการตรวจเพิ่มขึ้นมาอีก 3 รายการ คือ 1.การคัดกรองภาวะการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ 2.การวัดภาวะพลัดตกหกล้ม และ 3.ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพโดยสหสาขาวิชาชีพไม่น้อยกว่า 3 สาขา เช่น เป็นโรคควรทำอย่างไร ไม่เป็นโรคควรทำอย่างไร โดยคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองทั้ง 11 รายการแบบ One Stop Service จุดเดียวเบ็ดเสร็จ และ 3 รายการที่เพิ่มขึ้นมานี้ทางหน่วยบริการสามารถเบิกงบ On top จาก 8 รายการเดิมได้ ซึ่งเชื่อว่าการมีงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. จะเป็นแรงขับดันอย่างหนึ่งที่ทำให้หน่วยบริการสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า ในปีนี้มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการแล้วประกอบด้วยโรงพยาบาล 24 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขของสำนักอนามัย กทม.อีก 30 แห่ง ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะสามารถตรวจคัดกรองผู้สูงอายุได้ 10,000 ราย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. เขต 13 และจะนำรายชื่อขึ้นอัพเดทในเว็บไซต์ของสำนักการแพทย์ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการสามารถความจำนงค์ได้ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ทางหน่วยบริการจะทำบัตรและให้เข้ารับบริการที่คลินิกผู้สูงอายุครบวงจรโดยคัดกรองตามรายการทั้ง 11 รายการ หากต้องมีการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นก็จะเข้าสู่กระบวนการเบิกจ่ายตามสิทธิ หรือกรณีที่ต้องส่งต่อและโรงพยาบาลตามสิทธิไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแล ก็สามารถส่งต่อไปอีกเครือข่ายหนึ่งของกทม. ที่มีชื่อว่าโครงการกทม.ใส่ใจผู้สูงวัยหัวใจแกร่ง ซึ่งมี 14 โรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการ ทำให้ง่ายต่อการส่งต่อ แทนที่จะส่งต่อในระบบของ สปสช.เท่านั้น ก็สามารถส่งในโซนนิ่งทั้ง 14 โรงพยาบาลนี้ได้ด้วย

นพ.สุขสันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานในปีต่อไป จะขยายใน 2 ประเด็น คือ 1.ขยายฐานการคัดกรองผู้สูงอายุโดยจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรให้มากขึ้น ปัจจุบันในพื้นที่ กทม.มีโรงพยาบาล 156 แห่งและศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 68 แห่ง ปีต่อไปตั้งเป้าเพิ่มโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเป็น 40 แห่งและจัดตั้งให้ครบทั้ง 68 ศูนย์บริการสาธารณสุข ตลอดจนขยายไปในคลินิกชุมชนอบอุ่นของ สปสช. เขต 13 ซึ่งปัจจุบันมี 200 กว่าคลินิก

2.การขยายในเรื่องการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ ตั้งแต่ อสส. พยาบาล Care Giver รวมทั้งแพทย์และพยาบาลใน 5 เรื่องหลักๆ คือการป้องกันภาวะสมองเสื่อม เรื่องการใช้ยา ภาวะทุพโภชนาการ การพลัดตกหกล้ม และข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ขณะที่สำนักการแพทย์เองก็จะจัดตั้ง Excellence Center ด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ เพื่อให้ความรู้และรับส่งต่อกรณีเคสยากๆ ต่อไป

"ขอเชิญพี่น้องผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม.มารับบริการตรวจคัดกรองในคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร เพราะถ้าเราทราบตั้งแต่ต้นก็จะทำให้สามารถป้องกันโรคที่จะเกิดในอนาคต หลายคนไม่ทราบว่าตัวเองมีความเสี่ยงแล้ว หลายคนไม่ทราบว่าตัวเองมีโรค รวมทั้งที่พบบ่อยคือภาวะสมองเสื่อมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหลายๆ โรค การมารับบริการตรวจคัดกรองสุขภาพจะทำให้ทราบว่าตัวเองมีคุณภาพชีวิตอย่างไร มีความเสี่ยงอย่างไร ทางแพทย์และพยาบาลก็จะให้คำแนะนำในการป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงลุกลาม และถ้าพบโรคก็จะส่งไปรักษาตั้นแต่ต้นไม่ให้โรคลุกลามขึ้น" นพ.สุขสันต์ กล่าว

นพ.สุขสันต์ ย้ำว่า ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะช่วยลดภาระต่างๆ ได้มาก แต่ถ้ารอเป็นโรค ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายและที่สำคัญคือต้องหาคนมาดูแล ถ้าไม่มีคนก็ต้องจ้างซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก หรือต้องไปนอนโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเยอะแยะเช่นกัน ความเครียดก็ตามมาเต็มไปหมด ดังนั้นมาคัดกรองและป้องกันไว้ตั้งแต่ต้นดีกว่า