ไม่พบผลการค้นหา
จับตาพลังดูดของ 'พรรคภูมิใจไทย' ภายใต้การนำของ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรค และมีเงาลางๆ ของครูใหญ่ 'เนวิน ชิดชอบ' อยู่ด้านหลัง

สมรภูมิเมืองหลวง กทม. พรรคภูมิใจไทย เดิมพันหนักแบบเต็มสูบ เพราะหมายมั่นว่าต้องได้ ส.ส.กทม. เป็นครั้งแรกให้ได้ 

แถมศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ครั้งนี้ ได้คนที่เคยเป็นแม่ทัพคุมสนาม กทม.จากพรรคพลังประชารัฐ ยกพวก ยกทีมย้ายมาอยู่ 'พรรคเสี่ยหนู'

ชื่อนี้เป็นใครไปไม่ได้ คือ 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่นำ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ยกพวกทิ้ง 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' มาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ภายใต้ชื่อ ทีมภูมิใจไทย ภูมิใจกรุงเทพฯ 

ทั้งนี้ พุทธิพงษ์ ย้ำว่า "จะทำให้คนกรุงเทพฯ ภูมิใจ" พร้อมชี้ว่า หากย้อนดู 3 ปีที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยไม่มี ส.ส.กทม. แต่เชื่อว่าผลงานรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้สร้างประโยชน์ให้คนกรุงเทพฯ การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงต้องเสนอคนดี คนเก่ง นำนโยบายทำให้เกิดขึ้นจริง

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ภูมิใจไทย .jpgพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ภูมิใจไทย .jpg

พุทธิพงษ์ คนที่เคยอยู่พรรคสีฟ้า ประชาธิปัตย์ และอดีตคนเคยอยู่พรรคลุง พลังประชารัฐ ประกาศเปิดตัวในวันแรกภายใต้สีเสื้อ 'พูดแล้วทำ' ข้างกาย 'อนุทิน' เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ว่า ครั้งนี้ตนไม่ได้มาคนเดียว แต่มากับทีม กทม. 

"แต่ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้าเราเสนอคนดี คนเก่ง มาเป็นจุดกลางทำนโยบายให้เกิดขึ้นจริง ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นใน กทม. นี่คือ เหตุผลว่า ทำไมผมต้องมาพรรคภูมิใจไทย"

'พุทธิพงษ์' ยอมรับนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ชูว่า 'พูดแล้วทำ' มีความหมายมาก ขณะเดียวกันนโยบายที่จะเสนอต่อคนกรุงเทพฯ นั้น คือ นโยบาย 'ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7' โดยจะทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ 24 ชั่วโมงใน 7 วัน

“อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยอย่างหนึ่ง คือ การปกป้องเทิดทูนสถาบัน ผมมายืนตรงนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง ที่ผ่านมา 20 กว่าปี ที่ผมเป็น ส.ส.และทำงานเพื่อคน กทม. เชื่อว่า ผ่านอะไรด้วยกันมาเยอะ สิ่งที่ยืนยันตรงกัน คือ ทำให้ประเทศพัฒนาได้ด้วยการเข้าใจปัญหา โดยไม่คิดถึงตำแหน่งหน้าที่ ทั้งหมดคือ อุดมการณ์ จุดยืน เราตรงกัน” พุทธิพงษ์ กล่าว

ภูมิใจไทย -883D-41A7-BA0A-CDD7F50C8758.jpegอนุทิน พัชรินทร์ ภูมิใจไทย

ทีม ส.ส.ในก๊วนของ 'พุทธิพงษ์' ประกอบด้วย อดีต ส.ส.กทม.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันได้ยกคณะมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย 

จักรพันธ์ พรนิมิตร อดีตประธานภาค กทม.พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.กทม.เขต 30 

พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ส.กทม. เขต 2

กษิดิ์เดช ชุติมันต์ อดีต ส.ส.กทม. เขต 8

ภาดาท์ วรกานนท์ อดีต ส.ส.กทม. เขต 6 

และ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา อดีต ส.ส.กทม. เขต 4 

พลิกไปดูผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ครั้งนั้น 5 ส.ส.กทม.ที่ย้ายมาสวมเสื้อ 'ภูมิใจไทย' สามารถเอาชนะ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และพรรรคอนาคตใหม่ และต้องไม่ลืมว่าสนามกรุงเทพฯ ครั้งนั้นเป็นของพรรคพลังประชารัฐที่กวาดไปได้มากที่สุด 12 เขต ด้วยกระแส เลือกความสงบจบที่ลงตู่

จักรพันธ์ พรนิมิตร อดีตประธานภาค กทม.พรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.กทม.เขต 30 เลือกตั้งปี 62 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้ง 31,394 คะแนน (ชนะ พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ พรรคเพื่อไทย 25,745 คะแนน)

พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ส.กทม. เขต 2 เลือกตั้งปี 62 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้ง 26,909 คะแนน (ชนะ พัสวี ภัทรพุทธากร พรรคอนาคตใหม่ 26,636 คะแนน) 

กษิดิ์เดช ชุติมันต์ อดีต ส.ส.กทม. เขต 8 ปี 62 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้ง 29,090 คะแนน (ชนะ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง พรรคเพื่อไทย 26,122 คะแนน)

ภาดาท์ วรกานนท์ อดีต ส.ส.กทม. เขต 6 เลือกตั้งปี 62 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้ง 28,690 คะแนน (ชนะ คริส โปตระนันทน์ พรรคอนาคตใหม่ 23,980 คะแนน)

กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา อดีต ส.ส.กทม. เขต 4 เลือกตั้งปี 62 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกตั้ง 27,620 คะแนน (ชนะ กรณ์ จตุวิมล พรรคอนาคตใหม่่ 25,588 คะแนน)

พุทธิพงษ์ ภูมิใจไทย ปากกาในมือสั่น 04808964434963492_n.jpg

ทีมเมืองหลวงของพรรคภูมิใจไทย ยังได้อดีต ส.ส.กทม. จากพรรคเพื่อไทย 1 คน และที่ย้ายมาจากพรรคอนาคตใหม่ หลังพรรคถูกยุบ 2 คน คือ

ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. เขต 8 เลือกตั้งปี 62 สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง 27,897 คะแนน (ชนะ อรพินทร์ เพชรทัต พรรคพลังประชารัฐ 27,667 คะแนน)

ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย เดิม ที่เคยสังกัดพรรคอนาคตใหม่ คือ

มณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม. เขต 20 เลือกตั้งปี 62 เดิมสังกัดพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกตั้ง 40,483 คะแนน (ชนะ ธันวา ไกรฤกษ์ พรรคพลังประรัฐ 29,557 คะแนน) เขตนี้พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบพรรค)

โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณ ส.ส.กทม. เขต 23  เลือกตั้งปี 62 สังกัดพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้ง 27,651 คะแนน (ชนะ ทิพานัน ศิริชนะ พรรคพลังประชารัฐ 26,015 คะแนน) เป็นเขตที่สู้กันหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์

สรุปภาพรวมการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ครั้งนั้นมีจำนวน 30 เขต

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ปรากฏว่า

พรรคอนาคตใหม่ ส่งผู้สมัคร 30 เขต 804,272 คะแนน ได้ ส.ส. 9 คน

พรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัคร 30 เขต 791,893 คะแนน ได้ส.ส. 12 คน

พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัคร 22 เขต 604,699 คะแนน ได้ ส.ส. 9 คน

พรรคประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัคร 30 เขต 474,820 คะแนน ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่เขตเดียว

โดย ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อถูกยุบพรรค มี ส.ส. 2 คน ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ส่วนอีก 7 ส.ส.กทม. ได้ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ศึกชิงเก้าอี้ ส.ส.เมืองหลวง ครั้งนี้ เป็นไปตามกติกาใหม่ ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เบอร์ผู้สมัครไม่เหมือนกัน มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

ในขณะที่ ครูใหญ่ อย่าง เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เคยระบุเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ว่า หวังว่าครูใหญ่จะมีลูกศิษย์ (อนุทิน) เป็นนายกรัฐมนตรีสักครั้งหนึ่ง และการเลือกตั้งในปีหน้า ถ้าไม่สู้ให้ อนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตนก็จะลาออกจากการเป็นครูใหญ่ และเป้าหมายต้องเป็นอย่างที่หัวหน้าพรรคพูดไว้คือ ต้องได้ ส.ส. 100 คนขึ้นไป 

การได้ ส.ส.รวมกันเกิน 100 เสียง ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีโอกาสได้ ส.ส.ในเมืองหลวงด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือกพรรคที่มีกระแสและเลือกการเมืองจาก 2 ขั้วใหญ่มาตลอดในระยะหลัง

ขุมกำลัง ส.ส.กทม.ของพรรคภูมิใจไทยที่ได้มาจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส.ในสีเสื้อ 'พูดแล้วทำ' ตามที่ประกาศไว้แล้วหรือไม่

อีกไม่กี่อึดใจเดี๋ยวก็รู้กันไม่เกินกลางปีนี้ว่า พรรคการเมืองใดจะครองเสียงจากคนกรุงเทพฯ มากที่สุด จากทั้งหมด 33 เขตเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง