จากการประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือการแพร่ระบาดโรคติดต่อปี 2021 โดยมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ( Johns Hopkins Center for Health Security) สหรัฐอเมริกา มีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก อาทิ สถาบัน Nuclear Threat Initiative (NTI) ร่วมด้วย การประเมินประกอบด้วย 37 ตัวชี้วัด ครอบคลุมประเด็น อาทิ การป้องกันการแพร่ระบาด การตรวจหาเชื้อและติดตามดูแลผู้ป่วย การรับมือต่อการแพร่ระบาด ระบบสาธารณสุข การปฏิบัติตามมาตรฐานสากล การจัดการกับความเสี่ยงด้านการเมือง/เศรษฐกิจ/สังคม เป็นต้น โดยประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรก คือ 1. สหรัฐอเมริกา 2.ออสเตรเลีย 3.ฟินแลนด์ 4. แคนาดา 5. ไทย 6. สโลวาเนีย 7. สหราชอาณาจักร 8. เยอรมนี 9. เกาหลีใต้ และ 10. สวีเดน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ฝากขอบคุณ บุคลากรด่านหน้า ภาคส่วนต่างๆ และคนไทยที่ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมในเรื่องการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ในปี 2019 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสาธารณสุขและการจัดการกับการแพร่ของโรคระบาดที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับระดับสากล และเป็นอันดับต้นๆของโลก
ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์โควิด – 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลง แต่นายกรัฐมนตรียังเน้นการเฝ้าระวังโดยตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ตามกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศทุกราย สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อในลักษณะ Cluster รวมทั้งส่งตัวอย่างผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัย เพื่อตรวจหาสายพันธุ์ Omicron ทันทีด้วย เพื่อควบคุมไวรัสให้อยู่ในวงจำกัด ขณะเดียวกัน ยังกำชับเรื่องการสวมหน้ากากของชาวต่างชาติ ทั้งกรณี Test & Go และ Sandboxด้วย
รองโฆษกรัฐบาล ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ว่า พบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์หลายยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. โดยผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 17025 และผลการกรองอนุภาค (PFE) เพื่อใช้ป้องกันเชื้อโรค ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า 95% ตามที่มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)กำหนด สำหรับค่าผลต่างความดันนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคจากการสวมใส่ เนื่องจากเป็นค่าที่แสดงถึงความสบายในการสวมใส่เท่านั้น โดยพบว่าอยู่ในช่วง 4-6 mm H2O/cm2 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้