วันที่ 27 ก.ค. 2564 อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564 ดังนี้
-สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน
-จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้
-ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63
2. มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว) กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
แนวทางการดำเนินการ
-สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 / 50,001 - 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50
-สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน
นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า ศธ. และ อว. จะได้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอนของ พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้ง จะมีการกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป