จึงนำมาสู่กระแสกดดัน ‘ปฏิรูปกองทัพ’ อีกครั้ง
ซึ่งครั้งนี้ ทบ. ไม่สามารถตอบโต้ได้เช่นเคย เพราะกำลังตกเป็น ‘จำเลยสังคม’ อีกทั้งแรงบีบจากสังคมที่เรียกร้อง ‘ความรับผิดชอบ’ จาก ทบ. ต่อเหตุที่เกิดขึ้น ดังนั้นการที่ พล.อ.อภิรัชต์ แถลงข่าวว่า “ณ นาที ณ วินาที ที่ผู้ก่อเหตุได้ลั่นไกสังหารคู่กรณี ณ วันนั้น ณ นาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว" จึงทำให้สังคมโจมตีกลับทันที
พร้อมเจอกระแสให้ ผบ.ทบ. ‘ลาออก’ จากตำแหน่ง ที่กดดันเข้ามา ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็ทราบดี จึงเตรียมคำตอบมาชี้แจงด้วย แม้จะไม่ได้พูดว่า ‘ไม่ลาออก’ โดยตรง
“ถึงแม้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นกำลังพลของกองทัพบก และตั้งแต่ที่ผู้ก่อเหตุไปก่อเหตุที่ไม่ใช่การไปปฏิบัติภารกิจของกองทัพบก เช่นทหารขนยาเสพติด ค้าอาวุธสงครามแล้วถูกตำรวจวิสามัญ ตนก็อยากจะถามเหมือนกันว่าสมควรที่จะใช้คำถามนี้กับตนหรือไม่” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
“ผมมีความรับผิดชอบเพียงพอต่อภารกิจทุกอย่างที่สั่งไปในทุกตำแหน่ง ทุกวิกฤตที่ผมได้ผ่านมาจนกำลังจะเกษียณอายุราชการ อะไรที่สั่งผู้ใต้บังคับบัญชาทำ ผมรับผิดชอบ แต่ผมไม่สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำที่เป็นเหตุการณ์ส่วนตัว การก่ออาชญากรรม การทำผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนระเบียบวินัยที่มีอยู่อันนั้นผมรับไม่ได้” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ ไม่สามารถหนีตำบลกระสุนตกใส่นี้ได้ จึงตั้งแถลงข่าวพร้อมร่ำไห้ ขอโทษประชาชนและเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น ทว่ากลับมีกระแสตีกลับมาว่าเป็น ‘น้ำตาจระเข้’
ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงยืนยันว่า ตนพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา แม้อาจมีคนไปตีว่าเป็นความรู้สึกของอารมณ์ โดยสิ่งที่เสียใจที่สุดคือการสูญเสียผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะ พลทหารเมธา เลิศศิริ ที่เสียชีวิตระหว่างยืมยามรักษาการ
แต่สิ่งที่สังคมโฟกัสต่อมาคือการเขย่า ‘หม้อข้าว ทบ.’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ พล.อ.อภิรัชต์ มีมาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น โดย ทบ. เตรียมลงนามเอ็มโอยูกับกระทรวงการคลังในเรื่อง ‘ทรัพย์สินราชพัสดุ’ เพื่อนำเรื่องที่เป็นสวัสดิการดั้งเดิมของ ทบ. เช่น สนามกอล์ฟ โรงแรม และสนามมวย โดยเฟสแรก เริ่มที่โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สนามกอล์ฟ และสนามมวย
ทั้งนี้การทำเอ็มโอยูเพื่อให้ ‘สวัสดิการเชิงพาณิชย์’ เป็นไปตามกฎหมาย โดยรายได้ที่เกิดขึ้น ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง จากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาสัดส่วนคืนให้ ทบ. เพื่อเป็น ‘สวัสดิการ ทบ.’ ผ่านกองทุนสวัสดิการ
ส่วนการบริหารจัดการนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า จะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการมากกว่าจะใช้ทหาร เพราะมีความเป็นมืออาชีพ สำหรับกำลังพลที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ถือเป็นส่วนน้อย เช่น กำลังพลที่ไปช่วยราชการอยู่ที่ โรงแรมสวนสนประดิพัทธ์ ก็มีตำแหน่งและเงินเดือนอยู่แล้ว ต้องกลับมาทำงานที่เดิม ไม่ใช่ทำงาน 2-3 แห่ง
สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาต่อ คือ รายละเอียดของเอ็มโอยูที่จะลงนามเป็นอย่างไรบ้าง
อีกทั้งผลของการลงนามว่าเงินสวัสดิการเหล่านี้ ว่าจะตกไปถึง ‘กำลังพลระดับล่าง’ หรือไม่ โดยเฉพาะระดับ ‘พันโท’ ลงมาจนถึง ‘ทหารชั้นประทวน’ ตามที่พรรคอนาคตใหม่ได้เคยเสนอไว้
นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยังขีดเส้น ‘ทหารเกษียณฯ’ ต้องออกจาก ‘บ้านหลวง’ ภายในเดือน ก.พ.นี้ด้วย เพื่อเปิดให้ทหารที่อยู่ในราชการ 20-30 ปี มีที่พักและสามารถเก็บเงินเพื่อนำไปซื้อที่อยู่หลังเกษียณฯได้ แต่งานนี้กลับมี ‘ข้อยกเว้น’ ให้เกิดข้อกังขา
หลัง พล.อ.อภิรัชต์ ได้สั่งการไปยัง ‘กรมสวัสดิการทหารบก’ ให้ตรวจสอบ ‘บ้านพัก ทบ.’ ว่า มีนายทหารเกษียณฯ ยังพักอาศัยอยู่หรือไม่ โดยให้แบ่งออกเป็น 2 หมวด ได้แก่
1.ให้ทำหนังสือถึงผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้วยังอาศัยอยู่ที่บ้านสวัสดิการ และไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ โดยแจ้งให้ออกจากบ้านพักภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2563
2.ในส่วนที่ผู้เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี , ส.ว. และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ
ทั้งนี้ก่อนจะมี ‘ข้อยกเว้น’ เป็นข่าวออกมา สื่อได้ถาม ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ถึงนโยบายของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะให้ทหารที่เกษียณฯ ออกจากบ้านหลวง ภายหลังกระแสโซเชียลฯ ถามถึงกรณีการใช้พื้นใน มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ พล.อ.ประวิตร เป็นประธานฯ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ปฏิเสธตอบคำถามนี้
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกหน่วยทหาร ส่วนบ้านพัก ‘บิ๊กบัง’พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ. ภายใน ร.11 รอ.เดิมนั้น พล.อ.สนธิ ได้ย้ายออกไปอยู่บ้านพักส่วนตัว 2 ปีแล้ว
ส่วน ‘บิ๊กโด่ง’ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. ที่เคยพักอยู่ใกล้กับบ้านเกษะโกมล ได้ย้ายออกไปแล้ว 5-6 เดือน
ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยังมีแนวคิดเปิด ‘ศูนย์คอลเซ็นเตอร์’ เริ่มต้นในวันที่ 17ก.พ.นี้ ควบคุมโดย สำนักงาน ผบ.ทบ. โดยจัดเจ้าหน้าที่ทำงานตามวัน-เวลาราชการ ส่วนนอกเวลาราชการจะเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติ เพื่อบันทึกเป็นข้อมูลไว้ สำหรับกำลังพลที่โทรแจ้งต้องรายงาน ชื่อ ยศ ตำแหน่ง สังกัด และหมายเลขประจำตัว พร้อมยืนยันว่าทุกอย่างจะเป็นความลับ ทว่าหากรายงานเท็จจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ยังไม่ทันข้ามวัน พล.อ.อภิรัชต์ ลงดาบแรก โดยมีคำสังให้ พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 สั่งย้าย ‘พันเอก-พันโท’ ที่ถูกกล่าวหาพัวพันทุจริตที่ ร.23 พัน.3 ไม่จ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (เวรรักษาการ)
ถือเป็นผลพวงหลัง พล.อ.อภิรัชต์ ได้เปิดเผยว่ามีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว โดยช่วง ก.พ.-มี.ค.-เม.ย.นี้ นายทหารตั้งแต่ ‘นายพล’ ถึง ‘พันเอก’ หลายคน จะไม่มีงานทำ
นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 4ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เซ็นต์ยกเลิกการจัดซื้อปืนสวัสดิการทุกชนิดของ ทบ. ใครจะซื้อปืนสวัสดิการภายนอก จากหน่วยงานใดก็ตาม ผู้บังคับบัญชาชั้นนายพลจะต้องทำคำสั่งผ่าน ‘เสนาธิการทหารบก’ เท่านั้น เพื่อให้ออกคำสั่ง จากระเบียบเดิมที่ให้นายทหาร ‘ยศนายพัน’ เป็นผู้เซ็น ทำให้ ‘กำลังพล-พ่อค้า’ ซื้อขายอาวุธกันได้ง่าย อีกทั้งยังมองว่าทหารไม่จำเป็นต้องมีปืนส่วนตัว เพราะมีปืนหลวงที่ถูกเก็บรักษาและจะมีการแจกจ่ายอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ จะทำก่อนเกษียณฯ ก.ย.นี้ เหลือเพียง 7 เดือนเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้ย่อมสะเทือน ‘หม้อข้าว ทบ.’ แต่จะเป็นเพียงแค่การเปลี่ยน ‘ปลั๊กหม้อข้าว’ หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
เพราะโจทย์เหล่านี้เป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ซึ่งการจะแก้ปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมต้องรื้อทั้งระบบ โดยเฉพาะ ‘ระบบเครือข่าย-อุปถัมภ์’ ที่มีอยู่ในกองทัพ ว่าใครเด็กใคร-สายใคร เพื่อให้กฎเป็นกฎ และถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด
ไม่ใช่เพียง ‘ลูบหน้าปะจมูก’ เท่านั้น โดย พล.อ.อภิรัชต์ ก็ได้ออกตัวแล้วว่างานนี้ไม่มี ‘ถนอมตัว’ แน่นอน และพร้อม ‘เลย์ออฟ’ กำลังพลด้วย
“ผมไม่กลัวและไม่ถนอมตัว เพราะเป็นปีสุดท้ายที่อยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะทำให้กองทัพบกให้ดีขึ้นจนวันสุดท้าย” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
“การลงโทษกำลังพลยอมรับว่ากองทัพบก มีกำลังพลเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวก็ต้องเลย์ออฟออกไป มีมากก็ไม่ต้องทำงาน และผมเอาจริงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็กใคร ค่ายไหนผมไม่สน อย่ามาอ้าง ทุกวันนี้การมาฝากเป็นโน่นเป็นนี่ ผมให้ 99 %ที่จะไม่มีตรงนี้ อาจจะมีจดหมายหลุดมาบ้าง ถือว่ากล้าหาญมากที่ทำ แต่ผมก็พิจารณาถ้าไม่ดี คนเสนอต้องรับผิดชอบ” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
เมื่อปัญหา ‘ในรั้วทหาร’ ออกมา ’นอกรั้วทหาร’ ทำให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ ทำให้เสียงการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ดังขึ้นกว่าเดิม และสังคมเห็นพ้องมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นในค่ายทหาร ที่ได้ชื่อว่า ‘แดนสนธยา’ ที่ยากจะเข้าไปตรวจสอบ
การที่ พล.อ.อภิรัชต์ ริเริ่มแก้ไขถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
แต่การแก้ไขนี้ หากมี ‘ข้อยกเว้น’ หรือมี ‘ข้อพิรุธ’ เกิดขึ้น แล้วทำให้สังคมกังขา การปฏิรูปกองทัพก็จะไม่เกิดขึ้นจริง และเป็นการ ‘ขายผ้าเอาหน้ารอด’ เท่านั้น
จับตา ‘บทสรุป’ ของคำสัญญาเหล่านี้ !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง