“วง BNK48 ได้ผ่านจุดสูงสุดของตัวเองไปแล้ว” ประโยคนี้เป็นจริงหรือไม่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าหลังจากเพลง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ (2017) ซิงเกิ้ลของวงไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างมากนัก ถึงกระนั้นฐานแฟนคลับของวงก็มีมากพอสมควร ทั้งงานจับมือ คอนเสิร์ต หรือการโหวตเลือกตั้งยังมีผู้เข้าร่วมอยู่ อีกทั้งยังเหลือเพลงต้นฉบับของ AKB48 อีกหลายเพลงที่ไม่ได้ถูกแปลงเป็นเวอร์ชันภาษาไทย อย่างน้อยก็เพลง Heavy Rotation ที่ทางทีมงานคงเก็บไว้เป็นอาวุธลับ (หรืออาจเรียกว่าไพ่ใบสุดท้าย)
นับจากสามปีที่ก่อตั้งวงมา จักรวาลของ BNK48 ได้แผ่ขยายไปหลายสาขา สมาชิกหลายคนได้ไปแสดงในภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ ส่วนหนังสารคดีเกี่ยวกับตัววงก็มีออกมา เรื่องแรกคือ Girls Don’t Cry (2018) ที่กำกับโดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ส่วนเรื่องที่สอง One Take โดย โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล เพิ่งออนแอร์ทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เดิมทีหนังมีกำหนดฉายโรงในเดือนเมษายน แต่เพราะผลกระทบจากโควิด-19 เลยมาลงสตรีมมิงแทน
หากใครได้ดูเรื่อง Girls Don’t Cry คงจำบรรยากาศความเป็น ‘ส่วนตัว’ หรือ ‘ผู้ญิ้ง ผู้หญิงงง’ ของหนังได้ เนื่องจากผู้กำกับเน้นสำรวจความรู้สึกและทัศนคติของสมาชิกในวง กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของตัวหนังจึงเป็นการสัมภาษณ์น้องๆ วง BNK48 แบบนั่งคุยหน้ากล้อง (หรือที่เรียกว่า Talking head) หนังแทบจะไม่มีการสัมภาษณ์บุคคลอื่นนอกเหนือจากเมมเบอร์ อีกทั้งยังมีฟุตเทจอื่นๆ เช่น การออดิชั่นหรือคอนเสิร์ตน้อยมาก
ส่วน One Take นั้นเลือกวิธีการนำเสนอที่ต่างออกไป หนังพยายามให้ภาพที่ ‘กว้าง’ ขึ้น นอกจากการ Taking head กับสมาชิกวงแล้ว หนังยังสัมภาษณ์ทีมผู้บริหาร แฟนคลับ คนดัง ไอดอลรุ่นพี่ ฯลฯ ทำให้ One Take มีลักษณะเป็นสารคดีตามขนบที่คนดูคุ้นชินมากกว่าเรื่องที่แล้ว
สิ่งที่ต้องชื่นชมใน One Take คืองานด้านโปรดักชัน ทั้งการเก็บภาพบรรยากาศงานต่างๆ เช่น การซ้อม งานจับมือ งานโชว์ตัว หรือบรรยากาศหลังเวที ด้วยวิธีการสังเกตการณ์ (หรือแอบมอง) ทำให้รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติและบันทึกโมเมนต์ที่เกิดขึ้นตรงนั้นอย่างแท้จริง (ตากล้องของหนังคือ นิรมล รอสส์ ซึ่งถ่ายเรื่อง Girls Don’t Cry ด้วยเช่นกัน) อย่างไรก็ดี ดูเหมือนตัวสารคดีจะมีปัญหาในเชิง ‘การเล่าเรื่อง’ และ ‘โครงสร้าง’ อยู่หลายแง่
แม้จะกล่าวไปข้างต้นว่า One Take ให้ภาพกว้างขึ้นนอกเหนือไปจากน้ำเสียงของสมาชิกวง แต่เนื้อหาของหนังกลับค่อนข้างกระจัดกระจาย เช่น อยู่ดีๆ ก็ไปสัมภาษณ์บรรดาคนดังที่เป็นแฟนคลับของ BNK48 อย่างไม่จำเป็น เหวอที่สุดคือการอุตส่าห์ไปขอคิว โบ-จอยซ์ วง Triumphs Kingdom ที่ออกมาในหนังเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรื่องนัก
ประเด็นของ One Take ยังมีลักษณะที่แกว่งไปมา เริ่มแรกหนังเปิดด้วยดราม่าการเข้ามาของสมาชิกรุ่นที่สอง สักพักตัดไปการทุ่มเปย์ของแฟนคลับ แล้วก็ค่อยพุ่งไปเรื่องการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกของ BNK48 หนังสัมภาษณ์เมมเบอร์หลายคนถึงรู้สึกต่อระบบเลือกตั้ง ทว่าคำตอบที่ได้ก็ซ้ำย่ำกับที่ ทำนอง “ไม่ชอบระบบนี้ แต่ต้องทำเพื่อแฟนคลับ” หรือ “ในวงนี้ทุกคนคือเพื่อนแต่ก็ต้องแข่งกัน” เข้าใจว่าผู้สร้างพยายามให้สมาชิกแต่ละคนมี ‘แอร์ไทม์’ เป็นของตัวเอง แต่นั่นทำให้สารคดีมีอาการวนอยู่ในอ่าง
จังหวะการฉายอันล่าช้าก็ส่งผลเสียกับหนังเช่นกัน ผู้เขียนเคยทราบมาว่าที่จริงหนังควรจะฉายตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่หนังก็ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ แถมยังเจอพิษโรคระบาดอีก กลายเป็นว่าประเด็นหลักของหนังคือการพูดถึงการเลือกตั้งครั้งแรก (มกราคม 2019) ทั้งที่ในโลกความเป็นจริงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่สอง (เมษายน 2020) ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เรื่องราวในหนังจึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่เท่าทันกับเหตุการณ์ปัจจุบันของ BNK48 ที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย อาทิ การเลือกตั้งล่าสุด เฌอปราง ไม่ใช่อันดับหนึ่งแล้ว หรือมีสมาชิกวงจบการศึกษาไปมากมาย
อย่างไรก็ดี ปัญหาใหญ่สุดของ One Take ที่ผู้ชมแทบทุกคนเห็นตรงกันคือการเอาคลาสการแสดงมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งทำเอาคนดูงงว่าจะใส่มาทำไม สื่ออะไร เพื่ออะไร (และดูเหมือนการเวิร์กชอปนี้จะจัดขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุดิบของสารคดีด้วย) มันดูไม่เข้ากับหนัง แถมยังเสแสร้งจนกระอักกระอ่วน กลายเป็น ‘ส่วนเกิน’ ที่ดันเป็น ‘ส่วนใหญ่’ ของสารคดี
ต้องสารภาพว่าดูหนังจบแล้วผู้เขียนยังไม่เข้าใจเลยว่า One Take ที่เป็นชื่อหนังต้องการสื่อถึงอะไรกันแน่ มันอาจหมายถึงชีวิตคนเราเกิดมาครั้งเดียว จนทำให้สมาชิกวง BNK48 ต้องทุ่มเทกับการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันการทำสารคดีก็มีลักษณะ one take เช่นกัน เหตุการณ์บางอย่างผู้สร้างอาจมีโอกาสเดียวในชีวิตที่จะบันทึกมันไว้
ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้ ก็คงมองได้ว่าผู้กำกับใช้โอกาสนั้นไม่คุ้มค่านัก