ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยเดือน ต.ค. 2562 พบคนไทย 37 ล้านคนยังมีงานทำ ร้อยละ 85.2 ทำงานนานกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีคนว่างงาน 3.55 แสนคน อัตราว่างงานลดลง จำนวนคนว่างงานลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คนจบอุดมศึกษายังครองอันดับ 1 ของกลุ่มผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้น 1 หมื่นคนเมื่อเทียบ ต.ค. 2561

สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน ต.ค. 2562 พบว่า ภาวะการทำงานของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.66 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมทำงาน 37.44 ล้านคน กับ ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.22 ล้านคน 

โดยในจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมทำงาน แบ่งเป็น ผู้มีงานทำ 37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 9 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือไม่พร้อมทำงาน แบ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านและคนชรา 5.67 ล้านคน เรียนหนังสือ 4.31 ล้านคน และอื่นๆ 9.24 ล้านคน 

สำหรับผู้อยู่ในกำลังแรงงานและมีงานทำ 37 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ทำงานในภาคเกษตร 11.15 ล้านคน นอกภาคการเกษตร 25.85 ล้านคน โดยผู้ทำงานในภาคเกษตรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาการปลูกข้าวจ้าว ปลูกข้าวเหนียว และการปลูกพริก ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรก็มีจำนวนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวน 3 แสนคน เช่นกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงในสาขาการศึกษา 8 หมื่นคน สาขาการผลิต สาขาก่อสร้างและสาขาบริหารราชการ ป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ ซึ่งลดลงเท่ากัน 7 หมื่นคน สาขาขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ และสาขากิจกรรมบริการอื่นๆ ลดลงเท่ากันคือ 4 หมื่นคน สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์ลดลง 2 หมื่นคน 

อย่างไรก็ตาม มีผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร ที่มีการทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2561 ได้แก่ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เพิ่มขึ้น 9 หมื่นคน สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 2 หมื่นคน สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน ส่วนสาขากิจกรรมทางการเงินและประกันภัยไม่มีการเปลี่ยนแปลง  

เมื่อพิจารณาที่ชั่วโมงการทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ พบว่า ในเดือน ต.ค. 2562 ส่วนใหญ่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ทำงานเต็มที่ในเรื่องชั่วโมงทำงาน ที่มีจำนวน 31.53 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.2 ของผู้มีงานทำทั้งหมด 


การว่างงาน-10 เดือน ปี 2562

ส่วนจำนวนการว่างงานในเดือน ต.ค. 2562 มีทั้งสิ้น 3.55 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.84 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1 นับว่าปีนี้จำนวนผู้ว่างงานลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.9 หมื่นคน และจำนวนผู้ว่างงานลดลงจากเดือนก.ย. 2562 จำนวน 3 หมื่นคน 

ขณะที่เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามเพศ พบว่า เพศชายมีอัตราการว่างงานสูงกว่าเพศหญิง โดยอัตราการว่างงานเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 1 เพศหญิงร้อยละ 0.9 ส่วนกลุ่มผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5.3 ซึ่งปกติคนกลุ่มนี้จะมีอัตราการว่างงานสูง อย่างไรก็ตาม เดือน ต.ค. 2562 คนวัยดังกล่าวมีอัตราการว่างงานมากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราที่ร้อยละ 5.1 ส่วนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.5 

เมื่อเปรียบเทียบระดับการศึกษาของผู้ว่างงาน พบว่า เดือน ต.ค. 2562 มีผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 1.47 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 1.7) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.3 หมื่นคน (ร้อยละ 1.1) ระดับประถมศึกษา 6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.7) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 5.6 หมื่นคน (ร้อยละ 0.9) และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.9 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 6 พันคน ระดับประถมศึกษา เพิ่มขึ้น 2.1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ลดลง 4.2 หมื่นคน และกลุ่มไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา ลดลง 1.2 หมื่นคน 


การว่างงาน-10 เดือน ปี 2562-การศึกษา-อุดมศึกษา-ปริญญา

อีกทั้งยังพบว่า ในจำนวนผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน เคยทำงานมาก่อน 1.85 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 1.7 แสนคน โดยในจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา 5.2 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.2 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 4.1 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 3.2 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา 1.8 หมื่นคน 

การว่างงาน-อุดมศีกษา-ว่างงาน-ปริญญา

หากแบ่งจำนวนผู้ว่างงานออกเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุดจำนวน 1.25 แสนคน ตามมาด้วยภาคเหนือ 7.1 หมื่นคน ภาคใต้ 7 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.1 หมื่นคน และกรุงเทพฯ 2.8 หมื่นคน โดยภาคกลางมีจำนวนผู้ว่างงานลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6 พันคน ภาคเหนือเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นคน ภาคใต้เพิ่มขึ้น 7 พันคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 3.9 หมื่นคน และกรุงเทพฯ ลดลง 4 พันคน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :