ไม่พบผลการค้นหา
มติ ครม.เคาะ 4.2 พันล้านบาท ซื้อเพิ่มวัคซีนซิโนแวค 12 ล้านโดส อ้างผลวิจัยยืนยันอย่างชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนไขว้นั้น มีความปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับดีมาก

เวลา 14.45 น. วันที่ 7 ก.ย. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติวงเงิน 4254.36 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนชิโนแวค เพิ่มจำนวน 12 ล้านโดส รองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสม ระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ เพื่อให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรตามเป้าหมาย โดยจากผลวิจัยยืนยันอย่างชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนไขว้นั้น มีความปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับดีมาก

ธนกร.jpg

ธนกร กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตแล้วไม่ต้องทำการจัดซื้อล่วงหน้าเช่นเดียวกับวัคซีน ทำให้สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. และยังเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมและเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มวัยแรงงาน 8 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างชาติ 2 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายในวงกว้าง

ธนกร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า  จะสามารถร่นระยะเวลาการฉีดลงได้ และยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับสูงตามผลการวิจัย ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย/การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 รวมทั้งลดผลกระทบ ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว

สำหรับจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม จำนวน 12 ล้านโดส เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 

1.กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม) 

2. ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป

3. เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าที่เก็บขยะติดเชื้อเป็นต้น 

4. ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง